นัย-ความหมายที่ซุกซ่อน ภายใต้ ‘วิมายปุระ’
“…ปราสาทพิมายยังสะท้อนซึ่งชีวิต ศรัทธา ความเชื่อไว้ในทุกอณูของพื้นที่ ทุกโครงสร้าง ทุกภาพสลัก ทุกจำหลักแห่งงานประติมาที่ช่างผู้สลักและยอดบรมครูสถาปนิกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังตีความขบคิดไม่จบสิ้น ทว่า ทั้งเมืองพิมาย ยังเปี่ยมด้วยชีวิตยิ่งกว่านั้นไม่ต่างจากประติมานางนารีโยคินีที่ชูสิ่งอันแผกต่างหลากหลายไว้ในอุ้งหัตถ์ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความอุดมของดินแดนแห่งลุ่มน้ำมูล…”
……………………
ในสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตำนานเกี่ยวกับวิมายปุระ ปราสาทหินทรงขอมโบราณแบบบาปวน ของอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย และจังหวัดนครราชสีมาไปแล้ว ในรายงานชื่อว่า ‘วิมายปุระ’ ประวัติศาสตร์มีชีวิต (1) คติความเชื่อแห่งพราหมณ์-พุทธ ) ซึ่งนำเสนอผ่านภาพวาดประกอบสีน้ำ
แต่ทว่า ตำนานเรื่องราวของ วิมายปุระ ยังมีข้อมูลสำคัญอีกหลายส่วนที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่รอคอยการนำเสนออยู่
(4) “วิมายปุระ” กับนัยและความหมายที่ซุกซ่อน
ในประวัติศาสตร์แห่งราชสำนักเขมรโบราณ ศาสนาฮินดูได้หยั่งรากลึกมานับแต่รัชสมัยของพระเจ้าโกญทัญญะ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนัน ในห้วงเวลานั้นกษัตริย์และข้าราชบริพารในราชสำนักเขมรนับถือศาสนาฮินดูอย่างเหนียวแน่น ( พ.ศ.731-741 )
ข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์นัยและความหมายของการสร้างปราสาทพิมายโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สมมาตร์ ผลเกิด จากหนังสือ ปราสาทพิมาย เพชรน้ำเอกแห่งวิมายปุระ ลำดับถึงความเป็นมาของโบราณสถานแห่งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยในกาลต่อมา “โสมานิตย์” ขุนนางผู้หนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ( พ.ศ. 1420-1431 ) ได้สร้างพระพุทธรูปนามไตรโลกนาถขึ้น นับแต่นั้น พุทธศาสนาราวกับเริ่มมีที่ทางให้หยัดยืนเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้มีศรัทธาที่แตกต่างไปจากฮินดู
พุทธศาสนาเริ่มหยั่งราก สืบต่อมาถึงรัชสมัยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ( พ.ศ.1451-1453 ) กษัตริย์พระองค์นี้ ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ทว่า พระองค์มิหักหาญหรือต่อต้านศรัทธาเดิม แต่ยังคงให้ความอุปถัมภ์ต่อศาสนาฮินดูเช่นกษัตริย์องค์ก่อนหน้าจากนั้น “กวินทราริมถนะ” ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลไม่ต่างจากประธานองคมนตรี ในรัชสมัย ของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ที่ 2 ( พ.ศ.1487-1511 ) ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา
แม้ยังไม่ทรงอิทธิพลต่อราชสำนักเทียบเท่าศาสนาฮินดู แต่พุทธศาสนาก็หยั่งรากลึกมั่นคงในระดับหนึ่ง กระทั่งรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ( พ.ศ.1545-1592 ) ผู้ริเริ่มก่อร่างวางฐานให้แก่ศาสนสถานอันประกาศศรัทธา ความเชื่อและเจตจำนง ทั้งแฝงไว้ด้วยนัยทางการเมืองศาสนา หลีกเร้นซึ่งการปะทะหักหาญได้อย่างชาญฉลาด พระองค์ก้าวเข้าสู่ดินแดนของแผ่นดินอีสานใต้มิเพียงด้วยนัยทางการปกครองหากยังเพื่อประกาศว่าตนเป็นพุทธ ขณะเดียวกันก็ประนีประนอมต่อศรัทธาเดิมอันแข็งแกร่งยิ่งภายในราชสำนักเขมร
ในข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีอีกไม่น้อย สันนิษฐานว่าปราสาทพิมายในส่วนฐานรากที่เป็นวิหารซึ่งสร้างจากอิฐริเริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
ขณะที่ดร.ทนงศักดิ์ สันนิษฐานว่าในส่วนของปราสาทที่สร้างด้วยหิน “ปราสาทหินพิมาย” นั้นสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และพระองค์ก็ประกาศศรัทธาสูงสุดไว้ ณ ภาพสลักประติมานูนต่ำ บนทับหลังเหนือประตูทางเข้าห้องครรภคฤหะด้านทิศตะวันออกและทับหลังเหนือประตูด้านหน้าห้องครรภคฤหะ
บางสำนักคิดตีความว่าปราสาทและประติมากรรมต่างๆ ล้วนแฝงเร้นไว้ด้วย “รหัสนัย” ด้วยแม้พระองค์จะมีศรัทธาต่อพุทธ ทว่ามิอาจหักหาญต่อขนบความเข้มแข็งของเหล่าพราหมณ์ที่ทรงอิทธิพลต่อราชบัลลังก์ เหล่านี้เป็นข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีหลากหลายสำนักคิดในอดีต
(5) แรงดลใจแห่งมหาปราสาท ข้อสันนิษฐานใหม่ ปราสาทพิมายสร้างโดยชัยวรมันที่ 6
ปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นก่อนแล้วส่งอิทธิพลต่อนครวัด นักโบราณคดีไม่น้อยเชื่อเช่นนั้น ดร.ทนงศักดิ์ก็เป็นผู้หนึ่งที่สันนิษฐานเช่นนั้น “คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่านครวัดให้อิทธิพลกับที่นี่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปราสาทพิมายสร้างก่อน นับตั้งแต่ตัวปราสาทประธานและเกือบทุกอย่างของที่นี่เลยที่ให้อิทธิพลกับนครวัด ต่างกันตรงที่ปราสาทประธานของนครวัดอยู่บนชั้นยกสูงและเพิ่มยอดขึ้นมาอีก ส่วนระเบียงคดของนครวัดก็สร้างปราสาทขึ้นไปเป็นห้ายอด ขณะที่ระเบียงคดนี้มียอดปราสาทแบบนครวัด ก็จะเป็นนครวัดเลยนะแต่ที่นี่เขาไม่ได้สร้างยอดปราสาท เขาทำเป็นหลังคาเชื่อมต่อกันแบบเดียวกับระเบียงคดชั้นแรกของปราสาทนครวัด แสดงให้เห็นชัดว่า หลังคาระเบียงคดของประสาทพิมายได้ให้อิทธิพลทางรูปแบบระเบียงคดแก่ปราสาทนครวัดนี้ด้วย ”
ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่าความจริงเมืองพิมายสำคัญในแง่การเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของขอมอยู่ช่วงหนึ่ง คือก่อสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แห่งราชวงศ์ มหิธระปุระ ที่เข้ามาในพื้นที่ อันที่จริงก่อนหน้านั้น ชุมชนดั้งเดิมของเมืองพิมายมีความสำคัญมาก่อนสมัยพระองค์แล้วกล่าวคือถ้าลำดับง่ายๆพระเจ้า สุริยวรมันที่ 1 เคยอยู่บริเวณนี้มาก่อน ซากวิหารอิฐที่เห็นอยู่เป็นสิ่งปลูกสร้างในสมัยของพระองค์ แต่เมื่อมาถึงในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระองค์ก็เข้ามายึดพื้นที่ เรียกว่าชิงราชสมบัติแล้วก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์กษัตริย์องค์ต่อมาจากพระองค์ที่เรารู้จักกันดีคือพระเจ้า สุริยวรมัน ที่ 2 ที่สร้างปราสาทนครวัดคนนี้เป็นหลานองค์ต่อมาคือพระเจ้า ชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาทบายน คนนี้คือรุ่นเหลน เพราะฉะนั้น สายวัฒนธรรมเขมรที่ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีตก็อยู่ที่เมืองพิมายมาก่อน นอกจากนี้ถ้าเราสังเกตเห็นผ้านุ่งที่ภาพทับหลัง เช่น ภาพพระโพธิสัตว์สังวร หรือบางท่านเชื่อว่าคือพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย จะเห็นว่าเป็นภาพสะท้อนยุคสมัยของพิมาย คือผ้านุ่งที่ชักชายออกมานั่นสั้นไม่ยาวอย่างผ้านุ่งของปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นพัฒนาการในสมัยหลังต่อจากสมัยของปราสาทหินพิมาย
แต่นักวิชาการตะวันตกได้ลบภาพพิมายทิ้งเพราะหากให้ปราสาทพิมายขึ้นมาเด่นจะเป็นการลบภาพกษัตริย์เขมรผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งนักวิชาการฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นแหล่งอารยธรรม แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าอาณาจักรเขมรในระยะนี้มีจุดเริ่มต้นที่พิมายนี่เอง ถ้าเราไม่ได้ศึกษาละเอียดเราจะเข้าใจว่าทางเสียมเรียบให้อิทธิพลแก่เรา แต่ถ้าเราศึกษาลึกลงไปอีกเราจะพบว่าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์แห่งราชวงศ์ มหิธรปุระกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักรขอม ผู้ซึ่งหลานพระองค์สร้างนครวัด
ต้นวงศ์ของกษัตริย์ขอมที่ยิ่งใหญ่ ล้วนอยู่ที่ราบสูงโคราชทั้งสิ้น ตั้งแต่เริ่มแรกเลย นับแต่สมัยพระเจ้าจิตรเสน โดยเฉพาะจารึกของพระเจ้าจิตรเสนพบที่ที่ราบสูงโคราชมากกว่า 10 หลักนะ คือเมื่อพูดถึงอารยธรรมขอม ไม่ได้
หมายความว่าขึ้นมาจากที่เสียมเรียบอย่างเดียว แต่ว่าขึ้นมาจากที่ราบสูงโคราชด้วย ย้อนไปถึงศรีจนาสะ ก่อนยุคพระเจ้าจิตรเสนหน่อยนึง
(6) ศาสนสถานแห่งวัชรยาน
ก่อนที่กษัตริย์เขมรที่นับถือพระพุทธศาสนาองค์ต่อๆ มา คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จักมาร่วมต่อเติมและสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ทับซ้อนบนศาสนสถานแห่งนี้ โดยในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ประกาศตนเป็นพุทธโดยเปิดเผยและแผ่ขยายความยิ่งใหญ่ทางการปกครองของพระองค์ไปสู่การสร้างศาสนสถาน ธรรมศาลา อโรคยาศาลจำนวนมาก แด่เหล่าผู้จาริกแรมทางที่มีหมุดหมายอยู่ ณ วิมายปุระ
ทว่า แม้เมื่อกษัตริย์เขมรผู้แผ่พระราชอำนาจไปยาวไกลผ่านศาสนสถานที่ประกาศศรัทธาต่อพุทธศาสนา ทว่า ก็ยังคงมีอีกหลายสำนักคิดแตกแขนงออกไป ว่าแท้แล้ว ปราสาทพิมายสร้างภายใต้คติการสร้างพุทธมหายาน ลัทธิวัชรยาน โดยแนวคิดของการศึกษา วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าสร้างภายใต้คติของพุทธศาสนาแบบวัชรยานนั้น วิทยานิพนธ์ของ ศศิธร จันทร์ใบ หัวข้อ การศึกษาคติการออกแบบปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2545
แม้จะผ่านมาแล้วหลายปี ทว่า วิทยานิพนธ์ดังกล่าวยังคงนับว่าเป็นหนึ่งในงานวิจัยของสำนักคิดนี้ที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากใช้ความรู้ด้านประติมานิรมานวิทยา ( Iconography and Icocnology ) หาความหมายและระบบสัญลักษณ์ของวัชรยานโดยศึกษาควบคู่ไปกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ทำให้พบข้อสันนิษฐานที่บ่งชี้ว่าปราสาทพิมายสร้างขึ้นภายใต้คติของพุทธศาสนาแบบวัชรยาน โดยศึกษาผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมอย่างละเอียด อาทิ แผนผังปราสาทพิมาย ปราสาทประธาน โคปุระชั้นในและระเบียงคด อาคารอื่นๆ อาทิ ปรางค์พรหมทัต ปรางค์หินแดง บรรณาลัย คลังเงิน รวมถึงความหมายของที่ตั้ง ทำให้พบข้อมูลว่าปราสาทพิมายเป็นเพียงปราสาทแห่งเดียวที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินในอารยธรรมเขมรที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
งานวิจัยดังกล่าวเสนอว่า คำอธิบายของ อนุวิทย์ เจริญศุภกุล รองศาสตราจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่สนับสนุนแนวคิดของเอเดรียน สนอดกราด นักโบราณคดีสำนักคิดอเมริกันนับว่าน่าสนใจในประเด็นของการนำเสนอที่อาจสรุปใจความได้ว่าการวางผังของปราสาทพิมายใช้แกนเหนือใต้ที่เท่ากับแกนดิ่งของโลกเป็นแกนในการออกแบบตามคัมภีร์พฤหทารัณยกอุปนิษัท ที่ถือว่าสุริยทวารเป็นทั้งประตูแห่งชีวิตและความตามตาย
ผู้หลุดพ้นหรือบรรลุนิพพานจะผ่านจากประตูด้านทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ เนื่องจากทิศเหนือถือเป็นทางผ่านเข้าสู่เส้นทางแห่งทวยเทพและการหลุดพ้น แต่ประตูทิศใต้มีความหมายถึงการกลับคืนสู่จักรวาล การออกแบบปราสาทจากด้านหน้าคือทิศใต้และออกไปสู่ทิศเหนือ จึงสะท้อนความหมายของการหลุดพ้น ไม่กลับมาเวียนว่ายในวัฏฏะสงสารอีก ดังคำ “วิมายะ” ที่ถูกจารึกไว้ที่กรอบประตูโคปุระหรือประตูทางเข้าปราสาทพิมายซึ่งคำ “วิมายะ” ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ผู้ปราศจากมายา จึงมีความหมายที่สื่อถึงการหลุดพ้นจากการติดยึดในมายาหรือพ้นจากการเวียนว่ายในวัฏฏะสงสารนั่นเอง
@ บทส่งท้าย
อหังการ์ของผู้ปกครองและสถาปนิกผู้ควบคุมงานสร้างที่กล้าหาญพอจะเปลี่ยนขนบสำคัญบางประการในการสร้างศาสนสถาน ผ่านการเปลี่ยนทิศทางของปราสาทประธานจากทิศเหนือเป็นทิศใต้ ยังคงนำมาสู่การถกเถียงและตีความไม่สิ้นสุดตราบกระทั่งปัจจุบัน
ปราสาทพิมายยังสะท้อนซึ่งชีวิต ศรัทธา ความเชื่อไว้ในทุกอณูของพื้นที่ ทุกโครงสร้าง ทุกภาพสลัก ทุกจำหลักแห่งงานประติมาที่ช่างผู้สลักและยอดบรมครูสถาปนิกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังตีความขบคิดไม่จบสิ้น ทว่า ทั้งเมืองพิมาย ยังเปี่ยมด้วยชีวิตยิ่งกว่านั้นไม่ต่างจากประติมานางนารีโยคินีที่ชูสิ่งอันแผกต่างหลากหลายไว้ในอุ้งหัตถ์ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความอุดมของดินแดนแห่งลุ่มน้ำมูล
ไม่ต่างจากรามายณะ ทัพแห่งรามไม่อาจสยบราพนาสูร หากไร้ซึ่งพลเมือง เหล่าวานรตัวเล็กจ้อยที่แบกเทินบัลลังก์ของผู้คุมงานอย่างสุดกำลังความสามารถ ขุนศึกเคียงกายเช่นหนุมานย่อมมิอาจเป็นยอดขุนพลหากไร้ซึ่งแรงหนุนจากเผ่าพันธุ์ แม้ในทัพวานรยังมีชนชั้นอันหลากหลาย เช่นเดียวกับประติมาแห่งภาพทับหลังที่ล้วนสะท้อนซึ่งวรรณะและบทบาทหน้าที่อันแตกต่าง
ก่อนคลี่คลายสู่ปรมัตถสภาวธรรมในกาลต่อมา สู่อุดมคติสูงสุดของการสิ้นไร้ซึ่งชนชั้นฐานันดรใดผ่านการประกาศถึงศรัทธาในธรรมแห่งพุทธศาสนา
แม้นผ่านมานับพันปี ปราสาทพิมายยังคงเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ มากด้วยปริศนาแห่งธรรมและสัจธรรมอันสูงยิ่งในท่ามกลางยุคสมัยของเมืองที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
และนั่น อาจเป็นหนึ่งในสัจธรรมที่บรรพชนทิ้งไว้ให้ขบคิดผ่านกาลเวลา …. ข้อมูลอ้างอิง ปราสาทพิมาย เพชรน้ำเอกแห่งวิมายปุระเอกลักษณ์: รศ.ดร.สมมาตร์ ผลเกิด รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านส่วย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา : รัชนี คชรัตน์ และอำพัน กิจงาม หนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย การศึกษาคติการออกแบบปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา : วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และปราสาทพิมาย : แนวทางใหม่ของการบริหารจัดการ: ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ดุษฎีนิพนธ์บัณฑิต สาขาบริหารศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ขอขอบคุณเป็นพิเศษ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี จ.นครราชสีมา
*หมายเหตุ นอกเหนือไปจากข้อมูลทางโบราณคดี งานวิจัย งานวิทยานิพนธ์และความเห็นของนักวิชาการด้านโบราณคดีแล้ว ทัศนะจากมุมมองของผู้เขียนโดยเฉพาะประเด็นการตีความเรื่องฐานันดรที่ปรากฏผ่านทับหลังเป็นเพียงการตีความและแสดงความเห็นของผู้เขียนที่ย่อมแตกต่างจากการให้ความหมายตามหลักวิชาการ
———————————————
ขอขอบคุณ : https://www.isranews.org/article/community/comm-news/comm-chiild-women-culture/94915-investigative-10.html