ข่าวในประเทศ

ก้าวไกล VS ประชาชาติ เปิดศึกงัดข้อ-ชิงจังหวะสะสาง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

“งานความมั่นคง” ในยุครัฐบาลชุดใหม่ “เศรษฐา 1” ถูกจับจ้องแบบตาไม่กระพริบ…

เพราะนอกจากฝั่งรัฐบาลเองจะถูกตั้งคำถามตั้งแต่การจัดวางตัวรัฐมนตรี และผู้รับผิดชอบที่ดูจะไม่ “ถูกฝาถูกตัว” กับภารกิจด้านความมั่นคงแล้ว ยังพบการชิงจังหวะ แย่งซีน แย่งคะแนนกันระหว่างพรรคการเมืองกันอย่างดุเดือด ลึกล้ำ

โฟกัสขณะนี้อยู่ที่ปัญหาชายแดนใต้

1.รัฐบาลถูกตั้งคำถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงมากพอสมควรว่าจะเอาอย่างไรกับงานด้านนี้ โดยเฉพาะไฟใต้ เพราะ…

  • ไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงอย่างชัดเจน
  • นายกฯคุมงานตำรวจ และกลาโหมเอง แต่ไม่ได้คุม ศอ.บต.ที่ทำภารกิจด้านการพัฒนาเพื่อดับไฟใต้ ส่วน กอ.รมน.ยังไม่ชัดว่าจะเอาอย่างไร แม้นายกฯจะเป็น ผอ.รมน.โดยตำแหน่งก็ตาม
  • ยังไม่มีการพูดถึงการตั้ง “องค์กรกลาง” ขึ้นมาบูรณาการภารกิจดับไฟใต้ที่กระจายอยู่หลายหน่วยงาน เกือบทุกกระทรวง ทบวง กรม

อย่างในรัฐบาล “ลุงตู่” ก็จะใช้กลไกของ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. แล้วให้รองนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมีบารมีสูงในกลุ่มงานความมั่นคง นั่งเป็นประธาน

แต่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่มี!!!

2.ฤดูหาเสียง หลายพรรคการเมืองประกาศนโยบายไว้ชัด ทั้งเลิกกฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจรวมถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ด้วย) ที่ประกาศทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ (3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี)

  • บางพรรคในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาชาติ ประกาศจะยุบ กอ.รมน. และ ศอ.บต.ด้วยซ้ำ แต่ภายหลังเปลี่ยนวาทกรรมเป็น “ปรับภารกิจ”

3.เมื่อเข้ามามีอำนาจจริง กลับยังไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้สมกับที่เคยประกาศเอาไว้ ประชุม ครม.นัดล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ก.ย.66 ก่อนนายกฯไปประชุมสมัชชายูเอ็น ครม.ยังอนุมัติต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ไปอีก 1 เดือนด้วย เป็นการขยายเวลาครั้งที่ 73 รวมระยะเวลามากกว่า 18 ปี

  • เรื่องนี้กลายเป็นช่องทางให้พรรคก้าวไกลรุมถล่ม เช่น ในการอภิปรายช่วงแถลงนโยบาย ก็โจมตีรัฐบาลและพรรคประชาชาติว่า “ไม่แยแสปัญหาไฟใต้” จนมีการประท้วงให้ถอนคำพูดกันวุ่นวาย

ประเด็นนี้ถือว่าละเอียดอ่อน เพราะพรรคประชาชาติได้ สส.ทั้งแบบแบ่งเขต และปาร์ตี้ลิสต์จากพื้นที่เดียวของประเทศ คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นหากชื่อเสียงเสียไป จะเสียหายหลายแสน

ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ แก้เกมด้วยการให้นโยบายกลางวงประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งตัวเองเป็นประธานเอง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่กระทรวงยุติธรรม

การประชุมดังกล่าวเป็นการรายงานผลการขับเคลื่อน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมานฯ”

พ.ต.อ.ทวี ชี้ช่องเอาไว้น่าสนใจ โดยบอกว่า กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจการจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีหมายจับ 7 วัน และ 30 วันตามลำดับ

การใช้กฎหมายนี้ในพื้นที่ชายแดนใต้ นำมาใช้ร่วมกัน ซ้อนกัน จึงจับกุมและคุมตัวบุคคล (เป็นใครก็ได้) จำนวน 37 วัน โดยไม่ต้องมีหมายจับ ไม่ต้องมีการตั้งข้อหา

แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมานฯ ออกมาแล้ว กฎหมายนี้มีบทบัญญัติให้การจับกุม ควบคุมตัว และสอบสวน ต้องบันทึกภาพเป็นวิดีโออย่างละเอียดทุกขั้นตอน และต้องรายงานอัยการในท้องที่นั้นให้ทราบด้วย

นั่นก็แปลว่าการจับและควบคุมตัวแบบไม่มีหมายจับ ไม่ตั้งข้อหา และไม่ต้องนำตัวส่งโรงพัก หรือฝากขังต่อศาล โดยสามารถนำไปขังในค่ายทหารได้ ย่อมทำไม่ได้อีกแล้ว…ใช่หรือไม่

พ.ต.อ.ทวี ฝากการบ้านให้วงประชุมได้คิด และชี้ว่านี่อาจจะเป็นช่องทางให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ได้ทัน

“เพราะเมื่อมีกฎหมายใหม่มาคุ้มครองสิทธิประชาชน ก็ต้องยกเลิกกฎหมายเดิมที่ละเมิดหรือจำกัดสิทธิประชาชน”

@@ ก้าวไกลแก้ลำ เสนอแก้ร่าง พ.ร.บ. รื้อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จะเห็นได้ว่า ถ้าข้อเสนอของ พ.ต.อ.ทวี เป็นจริง จะส่งผลให้ต้องยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้ไปโดยปริยาย (ยกเว้นจะมีความจำเป็นเรื่องชายแดน เรื่องการรบ ก็ว่ากันไปเป็นพื้นที่ แล้วค่อยประกาศยกเว้น)

ฉะนั้นการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึกโดยรัฐบาล แล้วต้องไปขัดแย้งกับทหาร กอ.รมน. หรือกองทัพ จึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น

งานนี้ถ้าสำเร็จ รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาชาติ ได้คะแนนแน่ๆ

ล่าสุดพรรคก้าวไกลจึงอยู่เฉยไม่ได้ วันพฤหัสบดีที่ 21 ก.ย.จึงตบเท้า สส. นำโดย รังสิมันต์ โรม แถลงข่าวยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ… เข้าสภา เพื่อแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับเดิม

สาระสำคัญที่จะแก้ไขใหม่ก็คือ

1.เดิมการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการต่ออายุขยายเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกิน 3 เดือน ใช้อำนาจนายกฯ และ ครม.ในการอนุมัติ แต่ร่างกฎหมายใหม่ของก้าวไกล ให้ขออนุมัติสภาภายใน 7 วันด้วย เพื่อให้ สส.มีสิทธิตรวจสอบ

2.การขออนุมัติจากสภา รัฐบาลต้องทำแผนชี้แจงเพื่อให้เห็นว่าจะแก้วิกฤตสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาสภาไม่เคยรับรู้

3.ให้ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้อำนาจประธานสภา, ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สามารถร้องศาลปกครองให้วินิจฉัยได้ว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเหตุผลสมควรให้ประกาศหรือไม่

4.หากมีการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ย่อมสามารถดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ (ที่ผ่านมามีบทบัญญัติยกเว้นเอาไว้)

แกนนำพรรคก้าวไกล ทั้ง รังสิมันต์ โรม และ รอมฎอน ปันจอร์ ซึ่งมีบทบาทเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ เรียกร้องเชิงดักคอให้ สส.รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นไปตามหลักสากล และสร้างการยอมรับในการบังคับใช้กฎหมาย

นี่คือการชิงจังหวะกันของ 2 พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงและฐานคะแนนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังมีบทบาทในการตรวจสอบหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยกันทั้งคู่

ที่มา: isranews.org