ข่าวในประเทศ

17 ปีที่ถูกบังคับให้สูญหายของทนายผู้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม (สมชาย นีละไพจิตร)

12 มีนาคม 2547 ฮอนด้า ซีวิค สีเขียวคันหนึ่งวิ่งออกจากโรงแรมแห่งหนึ่งในซอยรามคำแหง 65 ไม่นานหลังจากเลี้ยวออกสู่ถนนรามคำแหง รถคันนั้นก็ถูกชนท้ายโดยรถเก๋งสีดำ เขาลงจากรถฮอนด้าสีเขียวมาพูดคุยกับเจ้าของรถคันข้างหลัง แต่กลับถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ดึงตัวขึ้นรถคั้นนั้นไป แล้วเขาก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย

เขาคนนี้มีชื่อว่า สมชาย นีละไพจิตร เป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เป็นรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ และเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายนับตั้งแต่วันนั้น

ไม่นานมานี้ชื่อของทนายสมชายกลับมาถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง หลังเกิดกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงการถูกอุ้มหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา

ในวาระครบ 17 ปีที่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหาย เราจึงอยากชวนมาทบทวนเรื่องราวของทนายผู้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมคนนี้อีกครั้ง

สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความน้ำดีที่มักทำงานเพื่อคนอื่นโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐ หรือผู้ต้องหาบริสุทธิ์แต่ยากจนและไม่มีเงินทองสู้คดีความในศาล เขาเป็นคนกล้าที่มีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของเพื่อนมนุษย์เสมอมา

ทนายสมชายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีชายแดนใต้ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับ “การก่อการร้าย” ทนายสมชายสามารถทำความจริงให้ปรากฏจนจำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี เช่น คดีกูเฮงเผาโรงเรียนในปี 2537 คดีหมอแวพัวพันกลุ่มก่อการร้ายเจไอในปี 2546

นอกจากคดีชายแดนใต้ที่ทนายสมชายเข้าไปทำงานในฐานะชมรมนักกฎหมายมุสลิมแล้ว ยังมีคดีด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่นายสมชายรับผิดชอบ และเกือบทุกคดีทนายสมชายจะเป็นทนายที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสมอ อาทิ คดียัดยาบ้า 1 เม็ดนิสิตจุฬาฯ ฯลฯ คดีช็อตไข่นายเอกวัต ศรีมันตะ หรือคดีวิสามัญฆาตกรรมโจด่านช้าง

การทำงานของทนายสมชายหลายคดีเปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ หลายฝ่ายจึงเชื่อกันว่าผลงานในอดีตของเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกทำให้หายไป และฟางเส้นสุดท้ายคือการออกมาเปิดโปงเจ้าพนักงานว่าทรมานผู้ต้องหาปล้นปืน-เผาโรงเรียน 5 นายเพื่อให้รับสารภาพ

ปี 2547 ที่ทนายสมชายหายตัวไปเป็นปีที่ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้รุนแรงขึ้น โดยในวันที่ 4 มกราคม 2547 มีการลอบวางระเบิดโรงเรียนกว่า 20 แห่ง และในเวลาเดียวกันก็มีการบุกล้อมกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ปล้นปืนไปมากกว่า 400 กระบอก

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 5 นาย ทนายสมชายจึงอาสาเข้าไปเป็นทนายต่อสู้คดี แต่เมื่อทนายสมชายไปพบผู้ต้องหาทั้ง 5 จึงพบว่าผู้ต้องหาถูกตำรวจทำร้ายร่างกายอย่างน่าสังเวช อีกทั้งยังถูกขู่บังคับให้รับสารภาพ

ในฐานะทนายที่ติดตามคดีชายแดนใต้ เมื่อได้เห็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน สมชาย นีละไพจิตร จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก และล่า 50,000 รายชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมายนี้ รวมถึงออกมาเปิดโปงการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนเผาโรงเรียน อีกทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีส่งคณะแพทย์เข้าไปดูอาการของผู้ต้องหา

เขายังขอให้มีการย้ายผู้ต้องหาทั้ง 5 คนให้พ้นจากการควบคุมของตำรวจที่ต้องการขยายระยะเวลาการควบคุมออกไป โดยให้เข้าไปในเรือนจำแทน ซึ่งศาลอาญาเห็นด้วยกับคำคัดค้านของคณะทนายสมชาย และมีคำสั่งให้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปควบคุมไว้ในเรือนจำ ส่งผลให้เจ้าพนักงานสอบสวนคดีนี้และผู้เกี่ยวข้องบางคนแสดงความไม่พอใจ เพราะถือว่าเป็นการเสียหน้า เนื่องจากถูกหักหน้ากลางศาลต่อหน้าสาธารณชน

ระหว่างการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกความผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกบังคับให้สารภาพนั้น ทนายสมชายและครอบครัวต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่หลายครั้ง และออกปากเตือนเพื่อนทนายความด้วยกันให้ระวังตัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่อุ้ม

วันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายเดินทางไปทำธุระที่ศาลล้มละลายกลางและศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้ ในเวลากลางวัน และเข้าไปทำงานที่สำนักงานย่านรัชดาในเวลาเย็น จากนั้นทนายสมชายได้นัดเพื่อนทนายที่ร้านอาหารโรงแรมย่านรามคำแหงในช่วงค่ำ ก่อนจะแยกย้ายกันในเวลาประมาณสองทุ่ม โดยทนายสมชายขับรถไปตามถนนรามคำแหงมุ่งไปทางลำสาลี และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครติดต่อกับทนายสมชายได้อีกเลย
———————————————————————————————

ข้อมูลจาก : จากหนังสือ “สมชาย นีละไพจิตร ผู้เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบสองปีที่ถูกทำให้หายตัว
ขอขอบคุณ บทความจาก Halal Life Magazine (https://www.facebook.com/halal.life.magazine/photos/a.191901920867235/3848346418556082/)