ข่าวต่างประเทศ

ประเทศมาเลเซีย จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ครั้งที่ 15

ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ประเทศมาเลเซีย จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ครั้งที่ 15 โดยนายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านมลายูศึกษา และการเมืองมาเลเซีย เห็นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ 222 ที่นั่งของมาเลเซียที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นการขับเคี่ยวที่น่าสนใจ เพราะผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 ที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ในนามกลุ่มพันธมิตรปากาตัน ฮาราปัน ขณะนั้น ได้รับชัยชนะเหนือพรรคอัมโน ที่ครองอำนาจมานานกว่า 60 ปี แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอัมโนอาจพลิกเกมส์ และกลับมาผงาดในการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้จะมีความร้าวลึกในพรรค เนื่องจากมีพรรคบาส ที่มีฐานเสียงที่มั่นสำคัญในรัฐกลันตัน และพรรคเบอร์ซาตู อาจหันมาจับมือกับพรรคอัมโน ซึ่งหากทั้ง 3 พรรค ยอมหลีกทางให้กันและกันได้ในบางเขตเลือกตั้ง (ซึ่งมีประมาณ 30-35 เขตที่มีการแข่งขันดุเดือดระหว่างพรรคบาส พรรคอัมโน และพรรคเบอร์ซาตู) ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคอัมโน อาจครองเสียงข้างมากอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้
“ ตอนนี้พรรคอัมโน กับพรรคบาส จับมือกัน เมื่อจับมือกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐกลันตันที่เป็นฐานของพรรคบาส สังคมก็เริ่มพลิก สมัยก่อนสมาชิกพรรคบาส กับพรรคอัมโน พูดได้ว่า ไม่กินน้ำชาบนโต๊ะเดียวกัน แต่ปัจจุบันนั่งกินกันได้แล้ว ” นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าว
พร้อมยังมองว่า การเลือกตั้งของมาเลเซียแตกต่างจากไทยอยู่บ้าง เพราะลักษณะการเลือกของประชาชนจะเลือกพรรค คล้าย พรรคมวลชน หรือ Mass Party การเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงผ่านกลไกพรรค ซึ่งพรรคจะเป็นคนเลือกบุคคลมาลงรับสมัคร และประชาชนก็จะผู้สมัครที่พรรคเลือกอีกต่อหนึ่ง อีกทั้งฐานรากของพรรคอัมโนที่มีการตั้งสาขาพรรคทั่วประเทศ และมีสมาชิกพรรคกว่า 3 ล้านคน รวมถึงเม็ดเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่คาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 3,000 ล้านริงกิต ก็อาจทำให้พรรคอัมโนได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้
ขณะที่การประกาศลงชิงชัยอีกครั้งด้วยวัย 97 ปี ของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสมัยนั้น โดยไม่มีเงาของพันธมิตรปากาตัน ฮาราปัน อีกต่อไป หลังรอยร้าวลึกกับนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน ที่นายมหาธีร์รับปากว่าจะให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อ แต่ไม่เป็นไปตามนี้ แม้หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตถึงอายุที่สูงเกินไปและปัญหาสุขภาพ แต่นายนิอับดุลรากิ๊บ เห็นว่า ยังประมาทไม่ได้ เพราะนายมหาธีร์มีความเก๋าเกมส์ทางการเมือง อีกทั้ง เกาะลังกาวี ที่อยู่ติดพรมแดนไทย ในจังหวัดสตูล ก็เป็นพื้นที่มั่นของนายมหาธีร์ ที่เคยมาประจำการเป็นหมอคนแรกในโรงพยาบาลบนเกาะ และหลังเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้พัฒนาเกาะลังกาวีจนเป็นที่รู้จักในนามของสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก อาจทำให้นายมหาธีร์ กลับมารั้งเก้าอี้ทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง
“แม้หลายคนจะมองว่า หมดยุคของมหาธีร์ แต่มหาธีร์ก็ย้ำว่า ไม่ได้ต่อสู้เพื่อนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ต่อสู้เพื่อลังกาวี และมหาธีร์ก็ไว้วางใจไม่ได้ เพราะมีความเพลวพราว เก๋าเกมส์ทางการเมืองค่อนข้างสูง”
สำหรับเส้นทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านขณะนี้ นายนิอับดุลรากิ๊บ วิเคราะห์ว่า อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแตกของกลุ่มพันธมิตรปากาตัน ฮาราปัน เดิม อีกทั้งนโยบายของพรรคฝ่านค้านที่เคยชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา พบว่า สัญญาหลายอย่างที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งก็ไม่สามารถทำได้ จากหลายปัจจัย
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของมาเลเซียในขณะนี้ อยู่ในความสนใจของชาวบ้านที่อยู่ติดชายแดน โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส อย่างรัฐกลันตัน ที่มีคนไทยหลายหมื่นคนเข้าไปทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง และคนไทยสองสัญชาติ
ทั้งนี้ ไทยมีด่านพรมแดนติดมาเลเซีย 9 ด่าน ทั้งที่ จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีมูลค่าการค้าชายแดน และผ่านแดนไทย-มาเลเซียปี 2564 กว่า 640,000 ล้านบาท ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียก็ต้องผ่านช่วงวิกฤติไวรัสโควิด 19 เหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ และค่าเงินริงกิตที่ตกต่ำ การเลือกตั้งในมาเลเซียจึงน่าจับตามอง เพราะจะส่งผลต่อการค้าชายแดนระหว่างกัน รวมถึงนโยบายทางการเมือง และการทหาร โดยเฉพาะการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างทางการไทย และกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในปัจจุบัน

ที่มา : ThaiPBSศูนย์ข่าวภาคใต้