ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้

“ชมรมพ่อบ้านใจกล้า” กับจุดยืนเยียวยาคนถูกวิสามัญฯ

ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏควบคู่กับเหตุการณ์ปิดล้อม ยิงปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในระยะ 2 เดือนหลังมานี้ คือการระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย

โดยปกติเมื่อมีพี่น้องมุสลิมเสียชีวิตและมีพิธีฝังศพตามหลักอิสลาม บรรดาครอบครัวญาติมิตรหรือแม้แต่บุคคลที่ไม่รู้จัก แต่ได้รับทราบข่าว ก็จะพากันเดินทางไปร่วมพิธีศพ และจะหยิบยื่นความช่วยเหลือทั้งที่เป็นตัวเงินและสิ่งของ อย่าง ข้าวสาร อาหารแห้ง หรือแม้แต่ไข่ไก่ ให้กับครอบครัวและคนที่ยังอยู่ข้างหลัง บางคนไม่มีเงิน ก็ช่วยแรง เป็นวิถีแห่งความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ทั้งที่เป็นธรรมเนียม และหลักปฏิบัติของศาสนา

แต่การช่วยเหลือจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการจัดตั้ง ไม่มีตัวกลาง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ตายที่เป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง หรือแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ตาม

ทว่า หลังเหตุการณ์ยิงปะทะและมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงถูกวิสามัญฆาตกรรมในช่วง 2 เดือนหลังมานี้ กลับมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler’s Club “ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาค โดยประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อเดียวกัน

เพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” เป็นเพจที่เพิ่งปรากฎตัวขึ้นในโลกออนไลน์หลังจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปิดล้อมและยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 ที่ผ่านมานี้เอง

จากการตรวจสอบข้อมูลของเพจ พบว่า เพจนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ค.64 (ปี 2021) เดิมใช้ชื่อว่า “สมาคมพ่อบ้านในกล้า Courageous Butler” แต่หลังจากเปิดเพจในชื่อนี้เพียง 1 สัปดาห์ ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler’s Club” และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์นั้นมีการไลฟ์สดก่อนปะทะของฝ่ายผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ทำให้เกิดกระแสดราม่าอย่างมาก

หลังเปิดเพจขึ้นมา แอดมินเพจก็ได้เริ่มเปิดแคมเปญรับบริจาค เป้าหมายชัดเจนคือเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 2 รายที่ อ.กรงปินัง รวมถึงเจ้าของบ้านที่เป็นจุดเกิดเหตุปะทะ และได้รับความเสียหายจากการยิงปะทะด้วย

donate13071

และนั่นนับเป็นเคสแรกที่ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย ได้ยอดเงินบริจาค 22,185 บาท และมีตัวแทนนำเงินไปมอบให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต โดยมีการถ่ายภาพเอาไว้ด้วย

“ชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler’s Club” ใช้บัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อ “นายซาฮารี เจ๊ะหลง” เป็นบัญชีกลางในการเปิดรับการโอนเงิน และยังมีการนำบัญชีของญาติผู้เสียชีวิตมาโพสต์ไว้ในเพจ เพื่อให้บริจาคตรงไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย

ชมรมฯเปิดระดมทุนบริจาคครั้งที่ 2 เพื่อช่วยเหลือครอบครัว นายสุไรดิง กะแต ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยิงปะทะ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 ในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดยเปิดแคมเปญผ่านเพจเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ได้ยอดเงิน 28,200 บาท มีภาพถ่ายที่ระบุว่า มีการไปมอบเงินในวันที่ 15 พ.ค.ให้กับครอบครัวนายสุไรดิง

การระดมทุนครั้งที่ 3 เป็นการช่วยเหลือครอบครัว นายอัมรัน มาหิเละ กับ นายอาดือเระ มันปุเตะ ที่เสียชีวิตจากเหตุปะทะเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.64 ที่รีสอร์ทริมทะเล ในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยทางชมรมฯเปิดบริจาคเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ผ่านทางหน้าเพจ ได้เงิน 110,000 บาท นำไปมอบให้กับทั้ง 2 ครอบครัวในวันที่ 27 มิ.ย. ครอบครัวละ 55,000 บาท ส่วนยอดเงินที่ได้รับโอนหลังจากปิดรับบริจาคแล้ว ทางเพจระบุว่า จะมีการโอนไปให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ครอบครัวในภายหลัง

“ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” ไม่หยุดแค่นั้น ยังคงเดินหน้าเปิดระดมทุนครั้งที่ 4 ช่วยเหลือครอบครับ นายคูไมดี รีจิ กับ นายอัมรี มะมิง ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 5 ก.ค.64 ในพื้นที่บ้านชะเมาสามตัน ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยเปิดรับบริจาคเมื่อวันที่ 6 ก.ค.

ส่วนการระดมทุนครั้งที่ 5 เป็นการช่วยเหลือครอบครัว นายสุไลมาน ดอเลาะ และ นายอัซมาน สะมาแอ ที่เสียชีวิตจากเหตุปะทะ และพบศพเมื่อวันที่ 10 ก.ค.64 ในพื้นที่พื้นที่ป่าสาคู ต.กะดุนง อ.สายบุรี โดยเปิดรับบริจาคเมื่อวันที่ 11 ก.ค.64

การเปิดรับบริจาค 2 ครั้งหลังยังไม่มีการสรุปยอดบริจาค และยังไม่ได้มีการส่งมอบเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต

donate13075

สำหรับการถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า เงินบริจาคถึงมือครอบครัวผู้สูญเสียนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพที่ถ่ายเอาไว้ ไม่มีภาพขณะมอบเงิน แต่จะเป็นภาพซองใส่เงินสีขาว และสถานที่ที่นำเงินไปมอบ ซึ่งก็คือบ้านของครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือไม่ก็เป็นบ้านที่เสียหายจากเหตุปะทะ

ส่วนภาพที่เกี่ยวข้องกับ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” เป็นภาพชายคนหนึ่งที่คาดว่า น่าจะเป็นแอดมินเพจ คือ นายซาฮารี เจ้าของบัญชี ภาพส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพกำลังยืนหรือนั่งถือซองอยู่ที่หน้าบ้านของผู้เสียชีวิต แต่ไม่ได้มีคำบรรยายใดๆ มากมาย

ช่วงของการเปิดรับบริจาคครั้งที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นความสูญเสียที่สืบเนื่องจากเหตุปะทะใน อ.สายบุรี ทั้ง 2 ครั้ง ปรากฏว่า เพจชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ ถูกส่งข้อความโจมตี ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามาจาก “เพจไอโอ” มีการทำหน้าเพจเลียนแบบแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ชมรมพ่อบ้านโจรใต้” จน นายซาฮารี เจ๊ะหลง เจ้าของบัญชีที่รับบริจาค ซึ่งน่าจะเป็นแอดมินเพจชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ ต้องออกมาชี้แจงข้อความที่ถูกคอมเมนท์โจมตี

เนื้อหาของการชี้แจงสรุปว่า ตัวนายซาฮารีไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ตายทุกเหตุการณ์จากการยิงปะทะ แต่ระดมทุนเพื่อบริจาคให้กับครอบครัวผู้ตาย เพื่อการเยี่ยวยาด้านมนุษยธรรม ซึ่งรัฐอาจจะไม่ให้ความสำคัญในกรณีแบบนี้ แต่เรา ซึ่งหมายถึงนายซาฮารีและทางชมรมฯ ไม่ได้มอบให้คนตาย แต่มอบให้คนที่ยังอยู่

สำหรับ นายซาฮารี มีภาพถ่ายหลายภาพที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทการทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรในพื้นที่

donate13076

“ทีมข่าวอิศรา” ได้ติดต่อไปยังแอดมินเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงแนวคิดการทำกิจกรรมรับบริจาคให้กับครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ แต่ทางแอดมินเพจตอบกลับมาว่า ยังไม่พร้อม และที่ทำกิจกรรมนี้เป็นการทำแบบขำๆ หมายถึง ไม่ได้จริงจังอะไร

“ทางชมรมเราไม่ได้รวมตัวอย่างเป็นทางการ แต่รวมตัวขึ้นมาเพื่อความเฮฮาตามประสาพ่อบ้านปกติทั่วไป สมาชิกทุกคนจึงเป็นประธานกันหมดโดยปริยาย” เป็นคำตอบส่วนหนึ่งจากแอดมินเพจ

หากพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ การก่อกำเนิดขึ้นของเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” คล้ายเป็นการเสียดสีแบบทีเล่นทีจริง เพราะคำว่า “พ่อบ้านใจกล้า” อาจมีนัยหมายถึงกลุ่มนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชายฉกรรจ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนกิจกรรมรับบริจาคที่จัดขึ้นนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “แซะ” หรืออาจถึงขั้น “ตอกหน้า” ฝ่ายรัฐที่ไม่ยอมเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย แม้จะมีเหตุผลในเรื่องของกฎหมายที่ฝั่งผู้ตายเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และขัดขืนการจับกุม แต่ในแง่ของมนุษยธรรมแล้ว การนิ่งเฉยของหน่วยงานรัฐ ย่อมกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ของคนในพื้นที่ ทำให้ในหลายๆ กรณี ฝ่ายความมั่นคงต้องปรับท่าที ด้วยการความพยายามช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ แต่หลายๆ ครั้งก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เจ้าของบ้านหลังนั้น ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ตายหลบซ่อนพักพิงด้วยความเต็มใจด้วย

ประเด็นลักษณะนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดอาจไม่ใช่คำตอบของสถานการณ์ โดยเฉพาะเหตุผลง่ายๆ ที่เจ้าของบ้านอธิบายว่า เมื่อมีคนถือปืนมาขอพักด้วย 2-3 วัน เจ้าของบ้านที่ถูกร้องขอสามารถปฏิเสธคำขอได้จริงหรือ แต่เมื่อมีการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และยิงปะทะ พวกเขากลับต้องถูกดำเนินคดี และบ้านก็พัง

หนึ่งในพี่น้องไทยพุทธใน จ.ยะลา ซึ่งเคยโอนเงินผ่าน “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” เพื่อช่วยเหลือเคสปะทะใน อ.กรงปินัง (4 พ.ค.64) เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ตัดสินใจบริจาคเงิน เพราะเห็นว่าการที่คนสองกลุ่มถืออาวุธแล้วปะทะกัน ควรเลี่ยงอย่าให้บ้านพัง ซึ่งมันยาก แต่พอเกิดขึ้นแล้วก็ควรมีมาตรการดูแลผู้เสียหายตามสมควร โดยเงินที่บริจาค ระบุไปว่าช่วยเหลือเจ้าของบ้านที่พังเสียหายจากการปะทะ

“เวลาไปปิดล้อมไปยิงต่อสู้กัน กลุ่มที่เสียชีวิต เป็นเรื่องของการต่อสู้ แต่ถ้ายิงกันแล้วบ้านพัง อันนี้ก็เกินไป รัฐจะต้องเยียวยาอะไรบ้าง การยิงจนพรุน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น คิดว่ารัฐควรมีวิธีการอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่ยิงการปะทะ ไม่อยากให้มีการวิสามัญฯ และยิงกันจนบ้านพังขนาดนี้”

ขณะที่ รักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ ไม่ได้ช่วยผู้เสียชีวิต แต่ช่วยคนข้างหลัง จึงถือเป็นเรื่องปกติ

“เขาอยากช่วยเหลือญาติพี่น้องที่ต้องลำบากหลังจากความสูญเสีย บางเคสยิงบ้านเสียหาย มันแล้วแต่มุมมอง สำหรับผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยคนที่อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ปล่อยเขาอยู่ต่อไปโดยไม่สนใจพวกเขาเลย” รักชาติ กล่าว

การก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการช่วยเหลือเยียวยาโดยไม่แบ่งฝ่าย อาจเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการหยุดสงครามความรู้สึกที่มีการหยิบปืนต่อสู้กันด้วยอาวุธ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน…ก็เป็นได้

———————-

ภาพประกอบจาก – เพจชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler’s Club
ที่มา – https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/100459-donatesouth.html