ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้

กอ.รมน.ภาค 4 ตั้ง 22 ทหาร-ตำรวจตรวจสอบ ดำเนินคดีกิจกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์

แม่ทัพภาคที่ 4 ลงนามคำสั่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้ง 22 ทหาร-ตำรวจนั่งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง ตั้ง “พล.ต.ไพศาล” รองแม่ทัพภาค 4 อดีต ผบ.ฉก.นราธิวาส เป็นหัวหน้า ให้อำนาจฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้

30 ม.ค. 66 พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ลงนามในคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงวันที่ 9 มกราคม 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง

เพื่อติดตามตรวจสอบการจัดกิจกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง หาข้อมูลและประเด็นความผิดเพื่อใช้ดำเนินคดีตามกฎหมายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจัดตั้งคณะทำงานนี้ขึ้น

คณะทำงานมีทั้งหมด 22 นาย เป็นทหาร 19 นาย และตำรวจ จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย

  • พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 อดีต ผบ.ฉก.นราธิวาส เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
  • พล.ต.ต.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
  • พล.ต.วัชรวิชย์ ณรงค์พันธุ์ รอง ผอ.สขว.กอ.รมน.ภาค 4 สน.
  • พ.อ.อัฑฒเศรษฐ์ เต็มมีศร รองเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน

คณะทำงาน ได้แก่

  • พ.อ.ภาสกร บูรณวนิช
  • พ.อ.คณิต คหบดีกนกกุล
  • พ.ต.ภูวนาถ ศรีเจริญ
  • พ.ต.ยงยุทธ์ สำเหร่
  • พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล
  • พ.อ.จิระยุส จันทน์อาภรณ์
  • พ.อ.อภิเศรษฐ์ คุณารักษ์
  • พ.อ.เจษฎา ปิยะสุวรรณ
  • พ.ท.รังสรรค์ นนท์ธีระสวัสดิ์
  • พ.ท.ธนพล พละศิลปะ
  • พ.อ.นราธิป จอง
  • ร.ต.อานุภาพ ศิรินิล
  • พ.อ.ศรัญญู สังรี
  • พ.อ.ประธาน ตลับทอง
  • พ.ต.อ.อันธีร์ ต่ออารี
  • พ.ต.ต.วงศ์กร ปริมวงศ์
  • พ.ท.หญิงมะลิ พันธ์น้อย ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
  • พ.ต.ชัยยุทธ อินทนะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบ ประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและประเด็นที่เข้าข่ายความผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย กำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติและการใช้เครื่องมือให้ส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ ติดตามกำกับดูแลและประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดและคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้บังคับบัญชา

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการประชุมทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน โดยคณะทำงานต้องเตรียมข้อมูล 1 วันก่อนประชุม รายงานผลให้ ผอ.รมน.ภาค 4 ทราบทุกเดือน และสรุปผลการปฏิบัติงานตามวงรอบ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี

ก่อนหน้านี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการ์ดเกมที่ชื่อว่า “Patani Colonial Territory” มีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผลของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “คนปัตตานี” หรือ “คนปาตานี” มาใส่ในการ์ดเกม ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ออกมาตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริง เกี่ยวกับการลงโทษเชลยศึกปัตตานี ด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์