ข่าวในประเทศ

‘รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ส่งสารถึงรัฐบาลใหม่ไทยปฏิรูปนโยบายให้เป็นมิตรต่อผู้ลี้ภัย

29 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์ สภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลใหม่ต้องรับฟังเสียงเรียกร้องของภาคประชาสังคม เพื่อให้มีการปฏิรูปนโยบายการจัดการผู้ลี้ภัย ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของนานาชาติ 

“เราขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) และกลุ่มภาคประชาสังคมอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดการผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย” 

“รัฐบาลใหม่ต้องตอบสนองต่อความต้องการ การรักษาสิทธิมนุษยชน และการรับประกันความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย” เมอร์ซี บาเรนด์ส ประธาน APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อินโดนีเซีย กล่าว 

อ้างอิงข้อมูลจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีจำนวนผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ประมาณ 9 หมื่นคน ที่อาศัยอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยสงครามจากประเทสเมียนมา จำนวน 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ผู้ลี้ภัยบางรายติดอยู่ภายในค่ายแห่งนี้นานนับปี และถูกกฎหมายไทยกีดกันไม่ให้สามารถหางานทำในประเทศได้ ข้อมูลจากเครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) ระบุด้วยว่าผู้ลี้ภัยจะได้อาหารมูลค่าราว 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ต่อบทบาทและท่าทีของรัฐไทยที่ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศบ้านเกิด ซึ่งพวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกการโจมตีทางอากาศแบบไม่แบ่งแยกเป้าหมาย การจับกุมคุมขัง การซ้อมทรมาน หรืออาจจะแย่กว่านั้นโดยกองทัพเมียนมา 

กรณีที่เป็นข่าวดังที่สุดเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา คือกรณีที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของรัฐไทยส่งตัวสมาชิกต่อต้านกองทัพเมียนมา 3 คน ที่เข้ามาในไทยเพื่อแสวงหาการรักษา ให้กับกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองทัพเมียนมา พยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุด้วยว่า กองกำลัง BGF ได้ยิงสมาชิกต่อต้านกองทัพเมียนมาทั้ง 3 คน หลังจากทางการไทยส่งตัวกลับไป ขณะที่รายงานสื่อมวลชนระบุว่ามีสมาชิกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างน้อย 1 คนถูกยิงเสียชีวิต ขณะที่อีกสองคนยังไม่ทราบชะตากรรม 

เมอร์ซี บาเรนด์ส เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยสามารถผ่านข้ามแดนเข้ามาในไทยได้อย่างปลอดภัย และต้องรับประกันว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่ผู้ลี้ภัยเดิมที่อาศัยในค่ายพักพิงฯ ในประเทศไทย ต้องเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ

ประธาน APHR ระบุเพิ่มด้วยว่า การเพิ่มความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ถูกเผด็จการพม่าขับไล่ออกจากบ้านเกิด เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง รัฐบาลที่อ้างในการเป็นตัวแทนสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มแก้ไขสถานการณ์นี้โดยทันที

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 จนถึง 28 มิ.ย. 2566 หรือมากกว่า 2 ปี มีผู้เสียชีวิตจากเงื้อมมือของกองทัพพม่า จำนวน 3,720 ราย มีผู้จับกุม 23,635 คน และยังถูกควบคุมตัวอยู่ 19,279 คน


ที่มา: ประชาไท