บทความ

เปิดเหตุผล 1,000 คนปาตานีต้องการเอกราช ร่วมค้นหาวิธีลดความรุนแรงและนำสันติสุขสู่พื้นที่

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งใช้คำถามตรงไปตรงมาว่า “ทำไมจึงต้องการเอกราช ?” โดยถามคนที่ต้องการเอกราช 1,000 คน ทั้งที่อาศัยอยู่ในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งในกรุงเทพมหานครและประเทศเพื่อนบ้าน ชื่องานวิจัย “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง: การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” ของ มารค ตามไท รองศาสตราจารย์และนักวิชาการด้านการสร้างสันติภาพ เป็นงานวิจัยเมื่อปี 2563

คนทำวิจัยบอกว่า การรู้เหตุผลนี้สำคัญ เพราะจะสามารถรู้ถึงคุณค่าที่เป็นฐานของเหตุผลเหล่านั้น เมื่อรู้แล้วก็จะสามารถศึกษาหาวิธีลดความรุนแรงและนำสันติสุขมาให้คนที่อาศัยในพื้นที่ทุกคน

เมื่อต้องการหาเหตุผลของชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราช กลุ่มเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์ก็ต้องเป็นคนปาตานีที่สนับสนุนเอกราช การเข้าถึงกลุ่มนี้ได้จึงตั้งทีมเก็บข้อมูล 10 คนที่เข้าถึงกลุ่มนี้ได้ ด้วยการแนะนำจากองค์กร PerMAS (กลุ่มนี้ยุบไปแล้ว) และ The Patani (กลุ่มเดียวกับที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้)

ในจำนวนคนที่ให้สัมภาษณ์ทั้ง 1,000 คน บางคนให้คำตอบมากกว่าหนึ่งเหตุผล รวมแล้วมีจำนวน 1,660 เหตุผล ซึ่งผู้วิจัยและผู้เก็บข้อมูล 10 คนได้จัดเหตุผลเป็นกลุ่มที่คล้ายกันได้ 5 ประเภท คือ

1.เหตุผลประเภท “ดินแดนของฉัน” ร้อยละ 70.1

ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า ปาตานีในอดีตเป็นที่รู้จักในนาม “ดินแดนแห่งอิสรภาพ” (NEGARA KEMERDEKAAN) และเมืองแห่งความศิวิไลซ์ (ERDAULAH) และเป็นสถานที่ศาสนาอิสลามได้เจริญงอกงามมากกว่า 300 ปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-16 (ก่อนที่กษัตริย์ของปาตานีจะเข้ารับอิสลาม) แต่ปาตานีในทุกวันนี้ (ปัจจุบัน) เป็นที่รู้จักในนาม “ดินแดนแห่งการถูกกดขี่ขมเหง” (BUMI JAJAHAN SIAM) ตั้งแต่ที่สยามนักล่าอาณานิคมได้เข้ามายึดครองตั้งแต่ปี 1785 ด้วยเหตุผลข้างต้น ข้าพเจ้าต้องการเอกราช (ปลดแอกจากสยาม) เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีและเกียรติยศของปาตานีให้กลับคืนมา

2. เหตุผลประเภท “แก้ปัญหาที่กำลังมีอยู่กับรัฐไทย” (ซึ่งแบ่งออกเป็นข้อย่อย 3 ข้อคือ “ความเป็นธรรม” “ความรุนแรง” และ “การจำกัดสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง”) ร้อยละ 40.1

3.เหตุผลประเภท “มีอนาคตตามที่ต้องการ” ร้อยละ 24.1

ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “เพราะทุกวันนี้ในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เศรษฐกิจและหลายอย่างที่จะส่งผลต่อความเจริญ แต่ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัด”

4. เหตุผลประเภท “ศาสนา” ร้อยละ 21.2

ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า ” ปาตานีเป็นแผ่นดินเดิมที่สามารถใช้กฎหมายอิสลามในการดำรงชีวิตได้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่สำคัญคือ ความหลอกลวง ความไม่จริงใจของรัฐไทย เช่น นโยบายต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในสามจังหวัด หรือการใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้น ไม่จริงจังในการปราบปรามยาเสพติด”

5. เหตุผลประเภท อื่น ๆ ร้อยละ 10.5

อ่านเพิ่มเติม คลิก


ที่มา: ประชาไท