ข่าวต่างประเทศ

วิกฤตสู้รบภาคเหนือเมียนมา จับตา“พื้นที่สุญญากาศอำนาจอธิปไตย”

สถานการณ์การสู้รบในเมียนมากระจายไปทั่วประเทศ และเริ่มมีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทยมากขึ้น และไทยเริ่มจัดระบบการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา

ศาตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เตือนว่า ไทยอาจมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ “โปแลนด์แห่งอาเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพราะเป็นหน้าด่านรับผู้อพยพหนีภัยสงครามจากเมียนมา ไม่ต่างอะไรกับที่โปแลนด์ต้องรับจากสงครามยูเครน

อาจารย์สุรชาติจึงเสนอให้ไทยเร่งแสดงบทบาท 2 อย่าง คือ 1.ตั้งสถานีมนุษยธรรม เป็นผู้นำการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างจริงจัง ในฐานะเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สุด และมีบทบาทสำคัญที่สุด กับ 2.เป็น Peace Broker คือเป็นผู้นำเปิดเวทีสันติภาพ เพื่อยุติสงครามกลางเมืองในเมียนมา

หากไทยทำสำเร็จจะฟื้นภาพลักษณ์และงานการทูตไทยที่ซบเซาตกต่ำมานานในเวทีโลก ให้กลับมาโดดเด่น และขยายบทบาทด้านอื่นๆ มากขึ้นในอนาคต

แต่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของสงครามในเมียนมา ยังถูกจับตาไปที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะตอนเหนือของรัฐฉาน และรัฐภาคเหนือของเมียนมา คือ คะฉิ่น และรัฐชิน

พื้นที่นี้ถูกโฟกัสตั้งแต่กลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพ หรือ Brotherhood Alliance หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “สามพันธมิตรภาคเหนือ” เปิดปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 และสามารถพิชิตกองทัพเมียนมา ยึดเมืองสำคัญได้หลายเมือง หนึ่งในนั้นคือ “เล่าก์ก่าย”

นับตั้งแต่นั้นมามีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลทหารเมียนมาที่ยึดครองประเทศมานานกว่าครึ่งศตวรรษ อาจต้องประสบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลทหาร และตั้ง “รัฐบาลเงา” โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและชาติตะวันตก อาจประกาศชัยชนะและยึดเมียนมาจากรัฐบาลทหารได้สำเร็จ

แต่แนววิเคราะห์นี้กำลังถูกมองต่างมุมจากนักวิชาการที่สัมผัสพื้นที่และลงพื้นที่จริง เพราะล่าสุดมีข้อมูลรายงานเข้ามาว่า กลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพนั้น จริงๆ แล้วมีวาระและความต้องการของตัวเอง ไม่ได้ทุ่มสุดตัวกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำวิจัยภาคสนามในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมากลุ่มสามพันธมิตรภาคเหนือ มีการทำข้อตกลงที่เรียกว่า Haigeng Agreement (ข้อตกลงไห่เก็ง – เป็นข้อตกลงหยุดยิง) โดยมีจีนเป็นตัวกลางหลักในการประสานให้กองทัพเมียนมา และกลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพได้พูดคุยเจรจากัน

แม้บางฝ่ายจะมองว่าข้อตกลงนี้มีอายุขัยเพียงสั้นๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสาระหลักของข้อตกลงเรื่องพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสามพันธมิตรต่อไป โดยทหารเมียนมาต้องไม่ส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่ครอบครอง

และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเปิดด่านเพิ่มเติมในเขตพื้นที่ของควบคุมของโกกั้งกับชายแดนจีน โดยเฉพาะด่านมีชื่อว่า “ชินฉ่วยเหอ” (Chinshwehaw Border) ที่เมืองเล่าก์ก่าย โดยกองกำลังโกกั้ง หรือ MNDAA ได้เฉลิมฉลองการเข้าควบคุมพื้นที่เดิมของตนเองด้วย

สำหรับกลุ่มสามพันธมิตรภราดรภาพ ประกอบด้วย กองกำลังโกกั้ง หรือ MNDAA กองทัพปลดปล่อยชนชาติตะอาง หรือ TNLA และกองทัพอาระกัน หรือ AA

อาจารย์ฐิติวุฒิ อธิบายต่อว่า พื้นที่สู้รบทางภาคเหนือที่มีขยายเพิ่มเติม คือ เขตอิทธิพลของกองทัพอาระกันซึ่งสามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ได้มากขึ้น โดยเป็นการประสานความร่วมมือกับกองทัพ KIA หรือ กองทัพเอกราชคะฉิ่น ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานในพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น (อยู่ติดกับตอนเหนือของรัฐฉาน ติดชายแดนจีน) และอาระกันจะกลายเป็นเขตควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารได้เกิน 80%

นอกจากนั้นหากนักรวมพื้นที่ในรัฐฉินด้วยแล้ว กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน หรือ CNF ที่ควบคุมพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของเมียนมา จะกลายเป็นเขตสุญญากาศอำนาจอธิปไตยเหมือนกับพื้นที่บริเวณชายแดนจีน (รัฐฉานตอนเหนือ และคะฉิ่น)

อาจารย์ฐิติวุฒิ บอกด้วยว่า อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระดับท้องถิ่นกับกลุ่มกองกำลังในรัฐชินและอาระกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีของอินเดียที่สำคัญมาก เพราะในอดีตอินเดียมีการรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่ในปัจจุบันอินเดียได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบ ทั้งจำนวนของผู้หลบหนีภัยสงคราม และความรุนแรงตามแนวชายแดน ทำให้อินเดียมีการปรับท่าทีและนโยบาย

อีกทั้งในปัจจุบันข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีความได้เปรียบ และสามารถควบคุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ชายแดนได้เกือบทั้งหมด การตัดสินใจของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่เท่าทันจากการอ่านยุทธศาสตร์และประเมินแนวโน้มสถานการณ์ในเมียนมาได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างนโยบายชายแดนที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับอินเดียโดยตรงมากกว่าพึ่งพารัฐบาลทหารเมียนมา


บรรยายภาพประกอบในเรื่อง – ภาพอาวุธที่กองทัพอาระกันยึดได้ที่เมืองเมืองหนึ่ง จากสถานีกองกำลังป้องกันชายแดนของฝ่ายรัฐบาลทหาร นอกจากนั้นยังมีกองกำลังบางส่วนหนีการโจมตีข้ามไปยังพรมแดนบังคลาเทศ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา

ที่มา: isranews.org