ข่าวในประเทศ

จับตาชำแหละงบ กอ.รมน. 7.8 พันล้าน แผนบูรณาการดับไฟใต้ 7.1 พันล้าน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระแรก ที่กำหนดเวลาอภิปรายเอาไว้ 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.ถึง 2 มิ.ย.64 นั้น ชัดเจนว่า หนึ่งใน “กลุ่มก้อนงบประมาณ” ที่ฝ่ายค้านล็อกเป้าถล่ม คือ งบด้านความมั่นคง ทั้งงบกระทรวงกลาโหม งบเหล่าทัพ งบ กอ.รมน. และงบดับไฟใต้

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับปี 2565 นี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่จัดงบประมาณภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ไม่ต่างจากปีที่แล้ว ยิ่งทำให้งบด้านความมั่นคงภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลที่ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ถูกจับตาและตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างงบประมาณปี 2565 ตั้งไว้ที่ 3,100,000 ล้านบาท (3.1 ล้านล้านบาท) ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 วงเงินงบประมาณดังกล่าวนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.87 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP

งบประมาณปี 2565 กำหนดงบรายจ่ายประจำไว้ที่ 2,360,543 ล้านบาท แม้จะลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 177,109.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.98 แต่รายจ่ายประจำก็ยังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ

งบประมาณปี 2565 ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเอาไว้ 6 ด้าน กับอีก 1 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จัดสรรงบประมาณเอาไว้ที่ 387,909.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ จัดอยู่ในลำดับ 5 จาก 7 ลำดับ รองจากยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749.6 ล้านบาท, ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 559,300.5 ล้านบาท, ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185.7 ล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 412,706.7 ล้านบาท

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง แยกย่อยเป็นแผนงานและแผนบูรณาการทั้งสิ้น 14 แผน หนึ่งในนั้นคือ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสรรงบไว้ที่ 7,144.3 ล้านบาท

วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นระบบและมีเอกภาพ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งในและนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและบูรณาการฐานข้อมูล หาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ยับยั้งเงินที่สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้ความรู้ด้านสิทธิเสรีภาพ และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและนานาชาติ สร้างความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม อำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ จัดให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพ สวัสดิการการศึกษาของนักศึกษาในพื้นที่ รวมทั้งจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเปิดโอกาสในการเข้าถึงที่หลากหลาย

“งบดับไฟใต้” อยู่ในทิศทางขาลงมาตลอดในช่วงระยะ 2-3 ปีงบประมาณหลังมานี้ แต่ทิศทางขาลงอยู่ในส่วนของงบที่จัดทำเป็น “แผนบูรณาการ” เท่านั้น เพราะงบดับไฟใต้ที่ไม่ได้รวมอยู่ในแผนบูรณาการยังกระจายอยู่ในแผนงานอื่นๆ และหน่วยงานอื่นๆ อีกมาก เช่น กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเหล่าทัพต่างๆ ที่มีกำลังพลลงไปปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบกองกำลัง อส. (อาสารักษาดินแดน) เป็นต้น

โดยหน่วยงานเหล่านี้นอกจากจะได้รับงบจากแผนบูรณาการแล้ว ยังมีงบประจำในส่วนที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบ อาทิ งบกำลังพล เบี้ยเลี้ยงต่างๆ หรืออย่างหน่วยงาน ศอ.บต. ซึ่งมีภารกิจเฉพาะด้านการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ก็ยังได้รับงบทั้งในส่วนแผนงานบูรณาการ และงบของหน่วยงานตนเอง

งบประมาณปี 2565 ตั้งงบในส่วนของ ศอ.บต.เอาไว้ที่ 1,147 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับการจัดสรร 1,526.2 ล้านบาท

ขณะที่ กอ.รมน. ได้รับการจัดสรรงบปี 2565 อยู่ที่ 7,881.7 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับการจัดสรร 8,854.7 ล้านบาท

แม้ กอ.รมน.จะได้รับงบประมาณลดลงในปี 2565 แต่ก็เป็นหน่วยงานเป้าหมายที่จะถูกฝ่ายค้านอภิปรายถล่มในช่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระแรก โดยเฉพาะภารกิจด้านความมั่นคงที่ค่อนข้างคลุมเครือและซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลัก เช่น กองทัพ และยังมีงบลับ ตลอดจนงบปฏิบัติการข่าวสาร หรือที่เรียกว่า “งบไอโอ” ผ่านโครงการสร้างความเข้าใจต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

plan30052

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ หนึ่งในขุนพลคนสำคัญของฝ่ายค้าน กล่าวว่า งบ กอ.รมน.ที่ตั้งไว้ในปี 2565 จำนวน 7,881 ล้านบาทเศษนั้น เป็นวงเงินที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของหน่วยงานที่มีข้าราชการประจำไม่เกิน 200 คน และไม่มีงานประจำเป็นของตนเอง แต่อ้างเพื่อความมั่นคง โดยผู้มีอำนาจอนุมัติใช้งบ คือ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง และ ผบ.ทบ ในฐานะ รอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง

โดย กอ.รมน.ได้รับจัดสรรงบประมาณมากกว่ากระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 6,523 ล้านบาท มากกว่ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้รับการจัดสรร 5,164 ล้านบาท มากกว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ทื่ได้รับการจัดสรร 4,380 ล้านบาท และมากกว่ากระทรวงพลังงาน ที่ได้รับการจัดสรร 2,717 ล้านบาท ทั้งที่หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานระดับกระทรวง มีภารกิจหน้าที่ที่มีความจำเป็นต่อประชาชนเรื่องความเป็นอยู่ ปากท้อง การพัฒนาเศรษฐกิจ และหารายได้เข้าประเทศ

พ.ต.อ.ทวี ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า งบประมาณแผนบูรณาการ 11 แผน (รวมแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย) จำนวนเงินงบประมาณ 283,284.54 แสนล้านบาท (เป็นเงินนอกงบจำนวน 75,107.28 ล้านบาท) ควรปฏิรูปหรือยกเลิกไปเสีย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการประเมินผลที่เป็นวิชาการจากองค์กรที่เป็นกลาง แต่ใช้ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ได้ประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณเป็นผู้ประเมิน

นอกจากนั้น จัดสรรงบประมาณปี 2565 ยังแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลต่อการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ทั้งที่กฏหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ รัฐต้องอุดหนุนร้อยละ 35 ในปีงบประมาณ 2565 แต่ปรากฏว่าสัดส่วนของการจัดสรรรายได้และเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) เท่ากับร้อยละ 29.58 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เพียงเล็กน้อย และกลับพบว่ารายได้ท้องถิ่นประเภทภาษีกลับลดลงเรื่อยๆ ขณะที่เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกปีทำให้ท้องถิ่น 7,850 แห่งทั่วประเทศ ไม่สามารถพึ่งตนเองทางการคลังได้ ต้องรอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

ที่มา : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/99071-budgetsouth.html