บทความ

เมื่อโควิดซ้ำเติมชีวิตลูกกำพร้าจากไฟใต้…ไม่รู้ทำไมน้ำตาถึงไหลออกมา

ไวรัสร้ายโควิด-19 ทำให้ด้านมืดหลายๆ ด้านในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมการเมืองถูกตีแผ่ออกมา

ขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นความจริงบางด้านที่ถูกกลบฝังหรือลืมเลือนหายไปเพราะสถานการณ์อื่นที่เคยถูกให้ความสำคัญมากกว่า

อย่างที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โควิดเผยให้เห็นจำนวนผู้คนที่ทุกข์ยากลำเค็ญ เดือดร้อนและยากจนอย่างแสนสาหัส ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย หนำซ้ำยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หน่วยงานรัฐเองก็เข้าไม่ถึงพวกเขา

ที่ผ่านมามีองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรเข้ามามีบทบาท อย่างเช่น “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ซึ่งประกอบด้วยคนในพื้นที่จากหลากหลายอาชีพ รวมทั้งสื่อมวลชนภาคสนาม ระดมทุนจากการขายของและรับบริจาค เปิดครัวทำอาหารปรุงสำเร็จแจกจ่ายผู้เดือดร้อน

บางเรื่องราว บางภาพชีวิต สามารถบอกเล่าและสะท้อนปัญหาชายแดนใต้ได้หลากหลายมิติ อย่างเช่นเรื่องของ หนูน้อยสาริศ มะหลี วัยเพียง 11 ปี

ช่วงกลางวันของวันฟ้าหลัววันหนึ่ง ขณะที่กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ และกลุ่มสื่อมวลชนชายแดนใต้กำลังเดินสายแจกอาหารในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สายตาก็ได้เหลือบไปเห็นเด็กชายคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ สอบถามได้ความว่าชื่อเด็กชายสาริศ มะหลี อายุ 11 ปี

เมื่อซักว่าทำไมต้องร้องไห้ หนูน้อยตอบว่า ตนเป็นเด็กกำพร้า ต้องสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่กับแม่และน้องๆ ตามลำพัง แม่มีอาชีพขายของ เมื่อก่อนขายได้วันละร้อย นำมาเลี้ยงทั้งครอบครัวก็ลำบากอยู่แล้ว เพราะตนยังมีน้องๆ ต่างบิดาอีก 4 คน ยิ่งมีโควิด ยิ่งขายของไม่ได้ ทำให้ไม่มีเงินจับจ่ายซื้อของเลย ไม่มีแม้ข้าวจะหุงกิน จึงไม่ต้องคิดว่าจะมีเสื้อผ้าใหม่ใส่ในวันรายอเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ จึงได้แต่นั่งร้องไห้เพราะความเครียดและเศร้าเสียใจ

orphan13053

ทีมงาน “ร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” จึงพาเด็กน้อยไปหาซื้อเสื้อผ้าใหม่เพื่อเตรียมไว้ใส่ในวันฮารีรายอ จากนั้นก็ตามไปเยี่ยมบ้านของเด็กชายสาริศ พบว่าเป็นบ้านเช่าหลังเล็กๆ มีไฟดวงเดียว บางมุมของบ้านจึงมืด เพราะไฟส่องไม่ถึง

แม่ของสาริศ เล่าว่า เดิมอยู่กระท่อมหลังเล็กๆ ไม่มีเลขที่ ไม่มีห้องน้ำ และไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อไม่มีบ้านเลขที่ จึงขอไฟฟ้าไม่ได้ ต้องต่อไฟจากเพื่อนบ้านใช้ แต่พอช่วงโควิด ขายของไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ จึงติดหนี้และเกรงใจ ไม่กล้าใช้ไฟของเพื่อนบ้านอีก ตัดสินใจย้ายหนีไปหาบ้านเช่าเล็กๆ อยู่ ไกลกว่าบ้านเดิมอีก 1 กิโลเมตร ทุกวันนี้แทบไม่มีเงินเลย อย่าว่าแต่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ลูกใส่วันรายอ เพราะแค่จะกินยังไม่มี

“โควิดทำให้ลำบาก ขายของไม่ได้ สงสารลูก พรุ่งนี้จะรายอแล้ว (วันที่ไปเยี่ยมแม่ของสาริศ คือวันที่ 12 พ.ค. ก่อนวันฮารีรายอ 1 วัน) ยังไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้ารายอให้ลูกๆ เลย อย่าว่าแต่เสื้อผ้า นมผงให้ลูกคนเล็กยังไม่มี ร่างกายก็ไม่ค่อยแข็งแรง น้ำนมตัวเอง จึงไม่มี ก็เลยต้องใช้นมผง ถ้าโควิดไม่มีก็คงจะดีกว่านี้” เธอกล่าวพลางจะร้องไห้

ขณะที่หนูน้อยสาริศ เผยความรู้สึกเพิ่มเติมว่า จริงๆ ไม่ได้คิดจะร้องไห้ แต่น้ำตามันไหลออกมาเอง เพราะสงสารแม่และน้องๆ อยากให้แม่ขายของได้ ตนจะช่วยแม่เต็มที่เพื่อให้แม่และน้องๆ มีความสุขขึ้นกว่าเดิม

orphan13052

เรื่องราวของสาริศ ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 17 ปี ทำให้มีเด็กกำพร้ามากมายในพื้นที่ พวกเขาไม่เพียงแต่สูญเสีย เสียใจ และอยู่ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญชีวิตด้วยความยากลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวที่ขาดเสาหลัก

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ชายแดนใต้ต้องทำงานเพียงคนเดียวเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวขนาดใหญ่ หลายปาก หลายท้อง แม้จะมีครอบครัวใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็ล้มเหลว อัตราการหย่าร้างและแยกกันอยู่สูงมากในพื้นที่ ผู้หญิงหลายคนต้องรับภาระดูแลพ่อแม่ในวัยชราด้วย

ครัวเรือนที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่มีลูกหลายคน บางบ้านลูกตัวเองก็เยอะแล้ว ยังต้องรับเลี้ยงหลานที่กำพร้าเพราะพ่อแม่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากสถานการณ์ไฟใต้

เศรษฐกิจโดยรวมก็แย่เพราะความไม่สงบ ทำมาหากินลำบาก การลงทุนการท่องเที่ยวก็ซบเซา ราคายางพาราก็ถูกลงๆ คนชายแดนใต้กลัวปืน กลัวระเบิด ก็ขายได้แต่ขายขี้ยาง ราคาก็ยิ่งต่ำ เมื่อเจอโควิดซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้หลายครอบครัวถึงกับล้มทั้งยืน

น่าแปลกที่งบประมาณดับไฟใต้ปีละหลายหมื่นล้านกลับไม่ถึงมือชาวบ้านตาดำๆ ที่ลำบากทุกข์ทน…

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวและภาพจาก : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/98529-orphan.html