ข่าวในประเทศบทความพัฒนาชุมชนคนมุสลิม

ไม่ใช่ภัยความมั่นคง! “แต่งชุดมลายู” พรึ่บหาดวาสุกรี

ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 24 เม.ย.66 มีข่าวสารจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้คนภูมิภาคอื่นตื่นตระหนกกันอีกครั้ง

เพราะมีการแชร์ภาพในกลุ่มไลน์ต่างๆ ของคนนอกพื้นที่ และมีการส่งต่อข้อความกันทำนองว่า “มาอีกแล้ว เยาวชนรวมตัวแต่งชุดมลายู ฝ่ายความมั่นคงคุมไม่ได้” พร้อมกับมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ฝ่ายความมั่นคงดูจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

เหตุการณ์เยาวชนที่เรียกกันในภาษามลายูว่า “เปอร์มูดอ” รวมตัวแต่งชุดมลายูจำนวนหลายหมื่นคน เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วเป็นครั้งแรก ช่วงหลังเทศกาลวันฮารีรายอ ตรงกับวันที่ 5 พ.ค.65 ที่หาดวาสุกรี เทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ครั้งนั้นเป็นการรวมตัวกันโดยฝ่ายความมั่นคงไม่รู้ล่วงหน้า (สะท้อนให้เห็นการติดต่อสื่อสาร นัดแนะของฝ่ายเยาวชนที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไม่ถึง)

หลังมีภาพการรวมตัวปรากฏออกมา ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนัก บางคนหวั่นเกรงถึงขั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกดินแดน เพราะมีเยาวชนบางคนนำธงบีอาร์เอ็นมาโบกสะบัดด้วย

โดยบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลสูงสุดในช่วง 20 ปีมานี้

หลังเหตุการณ์ ฝ่ายความมั่นคงพยายามกดดันหาข่าว หาตัวแกนนำจัดกิจกรรม จนกลายเป็นกระแสตีกลับ ถูกโจมตีว่าละเมิดสิทธิเยาวชน และการแต่งกายด้วยชุดมลายูไม่ได้ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ตามมา

ฉะนั้นเมื่อปีนี้มีการรวมตัวกันอีกรอบ ช่วงหลังวันฮารีรายอ 3 วันเช่นเดียวกัน แต่ปีนี้ตรงกับวันที่ 24 เม.ย. จึงทำให้เกิดกระแสวิจารณ์

@@ แม่ทัพภาค 4 ไฟเขียว ตกลงกติกาชัด

สำหรับการรวมตัวปีนี้ ใช้พื้นที่ชายหาดวาสุกรีเหมือนเดิม และใช้ชื่อกิจกรรมว่า MALAYU RAYA 2023 จัดโดย “กลุ่มสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ” เป็นกิจกรรมการรวมตัวกันของเยาวชนคนรุ่นใหม่ (เปอร์มูดอ เปอร์มูดี) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการแต่งกายชุดท้องถิ่นชุดมลายู เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอ สืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

แต่การจัดกิจกรรมปี้นี้ ไม่มีอะไรน่ากลัวตามที่เป็นกระแสข่าว เพราะหน่วยงานความมั่นคงพลิกบทบาท แทนที่จะสกัดกั้น กดดัน ตรวจสอบ แต่ใช้วิธี “สนับสนุนให้จัดกิจกรรม” แทน แถมอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการจราจร การเดินทาง อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงบริการทางการแพทย์ โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค ไฟเขียวเต็มที่ ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่ต้องสนับสนุนให้เกิดสันติสุข

แต่กิจกรรม MALAYU RAYA 2023 มีระเบียบข้อบังคับชัดเจน เช่น

  • ห้ามนำธงที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงที่อาจจะกระทบถึงความมั่นคงเข้ามาในบริเวณจัดงาน เว้นแต่เป็นธงสีประจำหมู่บ้าน หรือชมรม หรือ กลุ่มเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะทำให้เกิดการหมิ่นเหม่ และสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายความมั่นคง
  • หัวข้อประเด็นในการปราศรัย เน้นให้ตระหนักถึงความหลากหลายของอัตลักษณ์และการอยู่ร่วมกัน
  • ไม่อนุญาตให้นำอาวุธหรือของมีคมทุกชนิดเข้ามาภายในงาน ต้องปลอดอาวุธ 100% เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ มีนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรค ไปปรากฏตัวด้วย 2 คน คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นแชมป์เก่าชายแดนใต้ มี ส.ส.มากที่สุด กับ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม พรรคการเมืองตั้งใหม่ ที่กำลังมาแรงในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

@@ ใส่เสื้อลายธงบีอาร์เอ็น จัดกิจกรรมหน้ากลาโหม

แต่การเคลื่อนไหวของบรรดาเยาวชนอีกบางกลุ่มที่ต้องการ “สร้างข่าว – สร้างประเด็นเกี่ยวกับมลายูปาตานี” ซึ่งมีนัยสนับสนุนการปกครองตนเอง หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ก็ยังมีอยู่เหมือนกัน

อย่างกิจกรรมของเยาวชนและชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่ง ประมาณสิบคน เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 17.34 น. มีเยาวชนและกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้รถจักรยานยนต์ประมาณ 10 คันเป็นพาหนะ ขับขี่เข้าไปที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงกลาโหม ใกล้กับท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้ร่วมกันถ่ายภาพพร้อมกับ “ธงปฏิวัติมลายูปาตานี” ซึ่งคล้ายกับธงสัญลักษณ์ของขบวนการบีอาร์เอ็น รวมถึงยังได้แสดงท่าทางคล้ายทำความเคารพ หรือ ตะเบ๊ะ หรือ วันทยาหัตถ์ พร้อมกับตะโกนเป็นภาษามลายูด้วย

จากนั้นได้มีการนำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ในแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อก

สำหรับธงสีแดง-ขาว-เขียว จันทร์เสี้ยวและดวงดาว ที่เยาวชนกลุ่มนี้นำมาใช้ เป็นธงปฏิวัติมลายูปาตานี ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเป็นธงบีอาร์เอ็น

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตักเตือน แต่ไม่ได้มีการจับกุมหรือดำเนินการใดๆ โดยมีภาพถ่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้วย

@@ แห่ชม “ประตูชัย – อัลกุรอานจำลอง”

ปีนี้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งฝ่ายความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และฝ่ายพัฒนาอย่าง ศอ.บต. ไม่ได้สนับสนุนแค่กิจกรรม “แต่งชุดมลายู” แต่ยังสนับสนุนจัดประกวด “ซุ้มประตูชัย” ในพื้นที่ด้วย โดยมีรางวัลสำหรับชุมชนที่ชนะเลิศ เป็นเงินถึง 30,000 บาท

“ซุ้มประตูชัย”หรือ Pintu Gerbang (ปินตู กรือบัง) เป็นซุ้มทางเข้าชุมชนหรือหมู่บ้าน เป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญเชิงอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ว่าในช่วงเดือนรอมฎอน เยาวชนและคนหนุ่มสาวในแต่ละหมู่บ้านจะร่วมแรง ร่วมใจ และรวบรวมกำลังทรัพย์ ช่วยกันสร้าง “ซุ้มประตูชัย” ขึ้นมาในพื้นที่หมู่บ้านตนเอง

“ปินตู กรือบัง” นอกจากจะเป็นซุ้มที่แสดงถึงอัตลักษณ์และศิลปะแห่งดินแดนมลายูแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

ที่ผ่านมามีการสร้าง “ซุ้งประตูชัย” กันแบบนี้ทุกปี แต่ปีนี้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปสนับสนุน และจัดประกวด โดยมีรางวัลมอบให้

นอกจาก “ซุ้มประตูชัย” แล้ว ยังมีงานสร้างที่ได้รับความสนใจมากที่สุดอีกชิ้นหนึ่ง อยู่ที่ อ.รามัน จ.ยะลา คือการสร้าง “อัลกุรอานจำลอง” ขนาดใหญ่ที่สุด น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทำให้มีประชาชนในพื้นที่แห่ไปชม ถึงขั้นการจราจรติดขัดเลยทีเดียว

ที่มา: isranews