ข่าวในประเทศ

ต่อ พ.ร.ก.ชายแดนใต้รอบที่ 72 – จี้รัฐรับผิดเลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

torturepreventionlaw250500

“บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ เคาะต่อเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ ต่ออีก 3 เดือน นับเป็นครั้งที่ 72 ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 48 พร้อมเห็นชอบแผนลดพื้นที่กฎหมายพิเศษ ด้านวงเสวนาที่ธรรมศาสตร์ เรียกร้อง “นายกฯ – วิษณุ – ผบ.ตร.” รับผิดชอบเลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

วันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ค.66 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และปลัดกระทรวงกลาโหม ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ประชุมที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการปฏิบัติงานตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงวันที่ 20 มี.ค.66 – 15 พ.ค.66 และแนวโน้มสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.66 สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ย.66 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

torturepreventionlaw25056

การต่ออายุขยายเวลาครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 72 ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.2548 ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำรัฐบาล

การต่ออายุขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งหมด 33 อำเภอครั้งนี้ มีการยกเว้นการประกาศ 10 อำเภอ เพราะยกเลิกการประกาศไปแล้ว คือ อ.ศรีสาคร, อ.สุไหโก-ลก, อ.แว้ง, อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหริ่ง, อ.มายอ, อ.ไม้แก่น, อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เบตง, อ.กาบัง จ.ยะลา

@@ เห็นชอบร่างแผนปรับลดพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.เพิ่มเติม

การประชุม กบฉ.ครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการปรับลดพื้นที่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ปี 2566-2570) ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เสนอเพื่อให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ และใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อไปด้วย

@@ จี้ “บิ๊กตู่ – วิษณุ – ผบ.ตร.” รับผิดเลื่อนใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

วันเดียวกัน ที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายทรมาน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลอย่างไร และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ” โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นวิทยากร

torturepreventionlaw25052

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การตรา พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายฯ หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ นายกรัฐมนตรี เพราะแทนที่นายกรัฐมนตรีจะมุ่งคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่ไปคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้การอุ้มหายทรมานทำได้ต่อไป โดยอ้างเหตุเพียงว่าหาอุปกรณ์ไม่ทัน

“เมื่อมาตั้งข้อสังเกต มาตรา 22 พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกเลื่อนไป 1 ต.ค.66 เนื่องจาก ผบ.ตร.คนปัจจุบันจะเกษียณอายุ วันที่ 30 ก.ย.ปีนี้ เท่ากับเป็นการโยนให้ ผบ.ตร.คนต่อไป จึงถามไปยัง อ.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และนายกรัฐมนตรีว่า เหตุใดจึงประมาทเลินเล่อไม่มีการตรวจสอบว่า ผบ.ตร.มาขอเลื่อนเป็น 1 ต.ค.66 เพราะเหตุผลอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายกาจที่สุด หากกฎหมายถูกตีตกในสภาผู้แทนราษฏร จะต้องยุบสภาหรือรับผิดชอบโดยการลาออก แต่ขณะนี้ไม่มีสภาจึงขอนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะรับผิดชอบย่างไร เชื่อว่าประชาชนจับตาดู เพราะฝ่ายบริหารไม่เคารพในกฎหมายของสภา และส่งความเห็นเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญก่อนจะถูกตีตก” ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

@@ อดเข้าร่วมอนุสัญญาฯ CED ของยูเอ็น จี้เยียวยาผู้รับผลกระทบ

torturepreventionlaw25053

ด้าน ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวว่า มาตรา 22, 23, 24 และ 25 ใน พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมาน ที่มีการตราพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ออกไปนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีในประเทศไทย เมื่อกฎหมายถูกเลื่อนออกไป แม้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนถูกเลื่อนออกไปด้วย ซึ่งนอกจากมาตรา 22 แล้ว ในมาตรา 23 และ มาตรา 24 ที่เกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลตอนจับกุม เพื่อใช้เปรียบเทียบกับตอนปล่อยตัวหรือการตาย เป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของยูเอ็น (อนุสัญญาฯ CED) การเลื่อนออกไปจึงทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมได้

ในการเลื่อนบังคับใช้ออกไปยังมีผลในทางอาญา ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมจะต้องบันทึกภาพ แจ้งให้ฝ่ายปกครองหรืออัยการได้รับทราบ ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้วทุกหน่วยงาน เมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้บันทึกภาพ บันทึกข้อมูล ถือเป็นการทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ จึงตีความได้ว่าไม่มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ขณะที่ นายสุรพงษ์ ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมาขอโทษประชาชนและรับโทษ ทำให้ประชาชนรู้ว่าสำนึกต่อเรื่องนี้ สร้างบรรทัดฐานว่าต่อไปจะไม่มีการกระทำลักษณะนี้อีก และควรมีกระบวนเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา และควรสร้างบรรทัดฐานว่า ต่อไปจะมีการออก พ.ร.ก.อย่างไรไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่มีการรับโทษหรือลงโทษย่อมมีโอกาสทำผิดซ้ำ

@@ “วิษณุ” โต้ความรับผิดชอบหมดตั้งแต่ยุบสภาแล้ว

จากกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบกับเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ถ้าสภายังอยู่ รัฐบาลยังอยู่ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกหรือยุบสภา แต่ตอนนี้ได้มีการยุบสภาไปแล้ว รัฐบาลสิ้นสุดลงแล้ว และรัฐธรรมนูญให้อยู่รักษาการก็ต้องอยู่ รัฐมนตรีแต่ละคนอาจจะลาออกได้ แต่ ครม.พ้นออกไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มี ครม.ทำงาน อีกทั้งยังตั้ง ครม.ใหม่ตอนนี้ไม่ได้

“ดังนั้นการรับผิดชอบตรงนี้มันหมดไปตั้งแต่ยุบสภา” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถลาออกไป แล้วแต่งตั้งปลัดกระทรวงขึ้นมาทำหน้าที่แทนได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญก็มีกำหนดไว้ นายวิษณุ ตอบว่า ทำไม่ได้ เพราะปลัดกระทรวงใช้อำนาจรัฐมนตรีไม่ได้ ทำได้กรณีเดียวตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 142 ว่าด้วยการเสนองบประมาณผิดกฎหมาย แล้วถูกศาลสั่งให้ ครม.ต้องสิ้นสุดลงทั้งหมด ถือเป็นกรณีเดียวที่จะให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่ ครม.แทน

ที่มา : ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา