ข่าวในประเทศบทความพัฒนาชุมชนคนมุสลิม

“หลักอิสลาม” กับการพัฒนาคุณภาพทุเรียน สู่ “ล้งชาวบ้าน” แห่งแรกชายแดนใต้

“ทุเรียน” เป็นพืชเศรษฐกิจตัวสำคัญของประเทศไทยไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย

แทบทุกภาค ทุกพื้นที่ขยายการผลิต พื้นที่เพาะปลูก และพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนหวนฟื้นคืนสายยพันธุ์เก่าๆ ที่สูญหายไปให้กลับมามีชีวิต

เพราะยิ่งเก่าแก่ ยิ่งมีตำนาน ยิ่งเพิ่มมูลค่า

ส่วนวิธีการรวบรวมผลผลิตเพื่อหาตลาดจำหน่าย ปัจจุบันเป็นระบบ “ล้ง” คล้ายๆ ผลไม้ชนิดอื่น

ที่ผ่านมานายทุนจีนเป็นเจ้าใหญ่ เข้ามาจัดการ แม้จะสร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ยิ่งนานวันยิ่งพบปัญหา ทั้งจากฝั่งล้งเอง และจากฝั่งผู้ขาย ซึ่งมีทั้งเกษตรกรโดยตรง และพ่อค้าในแต่ละท้องถิ่น

มีการสวมรอยผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพเข้ามา เพื่อส่งออกไปตามยอด ทำให้สินค้าจากไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง เหมือนกรณี “ทุเรียนอ่อน” ที่เป็นข่าวไปไม่นานนี้

ฉะนั้นการเสริมพลังและภูมิปัญญาให้ชาวบ้าน รวมทั้งเกษตรกรเองสามารถเป็น “ล้ง” ได้ด้วยตัวเอง หาตลาดได้ รวบรวมผลผลิตและคัดคุณภาพเองได้ รวมทั้งสร้าง “แบรนด์” ของตนเอง จะได้เพิ่มมูลค่า และสร้างการยอมรับในระยะยาว อันจะทำให้มีลูกค้าต่อเนื่องกันยาวๆ ไม่ใช่รวยคราวเดียวแล้วหาย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. จึงลงแรงใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่ได้ศึกษามา ลุยพัฒนาคนให้มี “ชุดความรู้” เพื่อพัฒนา “ล้ง” และผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้

ความน่าสนใจมากจากคำบอกเล่าของ มะเสาวดี ไสสากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ที่เผยว่า สภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอง บพท. ที่ให้การสนับสนุนการผสมผสานองค์ความรู้กับหลักการทางศาสนาอิสลาม เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดีขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศมากกว่าเดิม

ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ความรู้ในการเก็บและใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผน ตลอดจนความรู้ในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นส่วนที่ บพท. ให้คำแนะนำ ได้ถูกนำมาประยุกต์เข้ากับหลักศาสนาอิสลาม 5 ประการได้แก่

  1. ‘อามานะ’ คือความรับผิดชอบต่อโลกและเพื่อนมนุษย์
  2. ‘ชูรอ’ คือการปรึกษาหารือร่วมกัน
  3. ‘นาซีฮัต’ คือการตักเตือนซึ่งกันและกัน
  4. ‘มูฮาซาบะห์’ คือการตรวจสอบติดตามประเมินผล
  5. ‘ญามาอะห์’ คือการรวมหมู่

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ให้ร่วมกันผลิตทุเรียนที่ดีต่อโลกและดีต่อเพื่อนมนุษย์

ผลของการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนคุณภาพได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว จากเดิม 50 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 100-150 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งยังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณด้วยเฉลี่ย 470-500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยมีปริมาณรับซื้อและส่งจำหน่ายรวม 3,000 ตัน ในปี 2565

การจัดจำหน่ายใช้แนวทางการรวมตัวเป็นกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบ “วิสาหกิจชุมชน” ใช้ระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าทางการตลาดในการจำหน่ายทุเรียน สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดทุเรียน โดยใช้แนวคิดการบูรณาการร่วมระหว่างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่า

“วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลาง สร้างเป็นโมเดลต้นแบบบริหารจัดการทุเรียนอย่างครบวงจร เป็น “ล้งชาวบ้าน” แห่งแรกของชายแดนใต้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้าขายยุคนี้ การสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ และจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของผู้ขาย

สะท้อนจาก “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ” เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่ต่างคนต่างทำ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกลุ่มทั้งสิ้น 398 รายใน 11 ชุมชน มีเครือข่าย 20 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ใน จ.ยะลา ได้แก่ อ.ธารโต อ.เบตง อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.รามัน และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มีพื้นที่ปลูกรวมกัน 6,000 ไร่

ภายใต้กระบวนการจัดการทุเรียนคุณภาพของวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ มุ่งเน้นการทำทุเรียนเพื่อส่งออกในนามทุเรียนยะลา สามารถสร้าง “ทุเรียนหนามเขียว” เป็นผลผลิตเด่นของยะลา ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ส่งออก สามารถส่งออกไปจีนได้ 27 ตู้คอนเทนเนอร์ สร้างรายได้ 300 ล้านบาท ในปี 2565

สุไลมาน ราแดง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มทุเรียนหนามเขียวยะลา” ถอดบทเรียนให้ฟังว่า เราเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร

นอกจากจะเป็นผู้ปลูกแล้ว ทางกลุ่มยังได้มีการร่วมลงทุนของสมาชิกเปิดตลาดกลางรับซื้อทุเรียน การรวบรวมและการกระจายผลผลิตทุเรียนทุกเกรดจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ทั้งทุเรียนเกรด ABC ทุเรียนตกไซส์ หรือแม้กระทั่งทุเรียนมีหนอนรู (รูแบ) ซึ่งมีกระบวนการจัดการ นำมาแกะเนื้อทำเป็นทุเรียนแช่แข็ง เพิ่มมูลค่าทุเรียน โดยทางกลุ่มมีห้องเย็นเป็นของตัวเอง ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท ถือเป็นห้องเย็นแห่งแรกของ จ.ยะลา ที่มีเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นเจ้าของลงทุนเอง นอกเหนือจากห้องเย็นที่ภาครัฐและผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุน

ในปี 2564 เป็นปีแรกของการจัดตั้งจุดรวบรวมคัดแยกทุเรียน หรือ “ล้ง” ของกลุ่มทุเรียนหนามเขียว กลุ่มมีผลผลิตประมาณจำนวน 3,000 ตัน ราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 360 ล้านบาท

ปี 2565 ศอ.บต.ได้สนับสนุนฐานเครื่องชั่งรถบรรทุก และห้องคุมเครื่องชั่ง ส่งผลดีคือแม้ผลผลิตน้อยลง คือกลุ่มทุเรียนหนามเขียวมีผลผลิตประมาณ 2,500 ตัน แต่ขายได้ราคาสูงขึ้น 150 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 375 ล้านบาท

ส่วนปี 2566 คาดว่าผลผลิตของกลุ่มจะมากกว่า 4,000 ตัน ราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าส่งออก 480 ล้านบาท

นี่คือความภาคภูมิใจและการพัฒนาจากล่างขึ้นบน จากตัวเกษตรกร จากคนพื้นที่ และอิงกับหลักศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตพื้นฐานของผู้คนชายแดนใต้ ก้าวสู่การทำธุรกิจกับผู้ซื้อต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ ทำให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มุ่งไปสู่การพัฒนาและการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: isranews.org