ข่าวสถานการณ์ชายแดนใต้ข่าวในประเทศ

ปูดซ้ำ “คอกวัว 3.5 แสน” ไม่ตรงปก โยกเยกใกล้พัง!

ปัญหาของโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” บานปลายไปอีกหลายประเด็น จาก “โคไม่ตรงปก” ลุกลามไปเรื่อง “คอกกลาง” ไม่ได้มาตรฐาน แถมแพงไม่สมราคา

ส่วนจุดเริ่มต้นของการร้องเรียนเรื่องการส่งมอบ “โคแม่พันธุ์” ที่ไม่ตรงตามข้อกำหนด โดยเฉพาะน้ำหนักน้อยกว่า 160 กิโลกรัม และอายุโคยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะผสมพันธุ์ได้ กลายเป็นเพิ่มภาระและต้นทุนให้เกษตรกร ทั้งๆ ที่ต้องกู้เงินมาซื้อตัวละ 17,000 บาทนั้น ปรากฏว่าประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ และมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่

@@ “ปศุสัตว์” แจงแค่เขียนสเปค – เกษตรกรหาพันธุ์โคเอง

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากกรมปศุสัตว์ ได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ชี้แจงปัญหาของ “โครงการโคบาลชายแดนใต้”

โดยเนื้อหาในเอกสาร อ้างถึง นายสัตวแพทย์ ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ สรุปได้แบบนี้

1.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ปรากฏข่าวว่า การจัดหา “แม่โค” ในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของ “แม่โคเนื้อ” ในโครงการ เนื่องจากโคมีลักษณะซูบผอม

2.การจัดหา “โคแม่พันธุ์” ในโครงการที่ “ใช้เงินนอกงบประมาณ” คือเงินกู้ของเกษตรกรจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

มีหลักการที่สำคัญคือ “การให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เอง ตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด”

โดยข้อกำหนด ได้แก่…
-สายพันธุ์
-อายุ
-น้ำหนักตัว
-สุขภาพสัตว์
-การได้รับวัคซีน
-การตรวจโรคที่สำคัญ
-พร้อมเงื่อนไขการรับประกัน หากไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร

@@ อ้างเหตุโคผอมเพราะน้ำท่วม ทำวัวเครียด!

3.ข้อร้องเรียนของเกษตรกรตามที่ปรากฏข่าว กรมปศุสัตว์ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้น พบว่า…

-ระยะเวลาส่งมอบแม่โค อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง มกราคม 2567 เป็นช่วงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีฝนตกหนัก และน้ำท่วม ส่งผลต่อสุขภาพโค แม่โคเครียด รับอาหารไม่เพียงพอ บางตัวก็ป่วย กรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว เช่น ให้วิตามิน และอาหารเสริม

4.กรณีที่กลุ่มเกษตรกรมีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวโค ตามเงื่อนไขของโครงการ กรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ขาย ดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่แล้ว

5.กรมปศุสัตว์จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยร่วมกับ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงมหาดไทย หากปัญหามาจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

@@ รัฐโบ้ยชาวบ้าน – เงินนอกงบประมาณ“ลอยตัว”?

เอกสารชี้แจงของกรมปศุสัตว์ ยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับ “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สรุปได้ดังนี้

1.โครงการนี้ ร่วมกันทำ 3 หน่วยงาน คือ

-กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ
-ศอ.บต.
-กระทรวงมหาดไทย

2.เป็นโครงการหนึ่งภายใต้โครงการใหญ่ คือ “โครงการเมืองปศุสัตว์” ตามกรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงเศรษฐกิจ ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้”

3.ใช้เงินนอกงบประมาณ ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กรอบวงเงิน 1,566.20 ล้านบาท

4.การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง (ระยะเริ่มแรก)
-เกษตรกร 60 กลุ่ม
-แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว
-เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท
-เงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท

5.วิธีการดำเนินงานคือ
-เกษตรกรรวมตัวตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ในหมู่บ้าน
-ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในระดับต้นน้ำ กลุ่มละ 1.55 ล้านบาท
-ได้เงินมาแล้วดำเนินกิจกรรม 4 กิจกรรม ดังนี้

หนึ่ง จัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละไม่น้อยกว่า 20 ไร่ เงินกู้ยืม 100,000 บาท

สอง ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อ (คอกกลาง) จำนวน 1 โรงเรือน เงินกู้ยืม 350,000 บาท

สาม จัดหาแม่โคพื้นเมือง จำนวน 50 ตัว ตัวละไม่เกิน 17,000 บาท เงินกู้ยืม 850,000 บาท

สี่ จ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม จำนวนไม่เกิน 3 คน เงินกู้ยืม 250,000 บาท

ข้อมูลของกรมปศุสัตว์ เป็นข้อมูลโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในระดับ “ปฐมภูมิ” คือเป็นข้อมูลตั้งต้นที่อยู่ในเอกสารเท่านั้น

“ทีมข่าว” ตรวจสอบไปยัง ศอ.บต. ได้ข้อมูลจากภาคสนาม เป็นความคืบหน้าของโครงการจริงๆ

  • โครงการระยะนำร่อง เริ่มตั้งแต่เดือเมษายน 2566
  • มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่องแล้ว จำนวน 47 กลุ่ม (ร้อยละ 78.33)
  • เบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 37,601,700 บาท (ร้อยละ 40.43)
  • ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนพร้อมลานปล่อย (คอกกลางประจำหมู่บ้าน) จำนวน 40 หลัง (ร้อยละ 66.67)
  • จัดซื้อแม่โคพันธุ์พื้นเมือง กลุ่มละ 50 ตัว จำนวน 1,150 ตัว (ร้อยละ 38.33)
  • จัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละ 10 ไร่ จำนวน 780 ไร่ (ร้อยละ 65) แต่ยังไม่มีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกร

จากคำชี้แจงของหน่วยงานรัฐสำคัญ 2 หน่วยที่เป็น “เจ้าภาพหลักของโครงการโคบาลชายแดนใต้” สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้

1.กรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า โคผอมเพราะฝนตก น้ำท่วมใต้ อาหารขาดแคลน บางตัวถึงขั้นป่วย แต่ไม่ได้พูดถึงการส่งมอบโค ว่าส่งมอบตรงตามสเปคหรือไม่ โดยกรมปศุสัตว์แจ้งว่าจะตั้งกรรมการไปตรวจสอบ

2.กรมปศุสัตว์ย้ำว่า โครงการนี้ใช้ “เงินนอกงบประมาณ” คือ เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

3.กรมปศุสัตว์อ้างว่า บทบาทหน้าที่ของตน คือการกำหนดสเปคโคเท่านั้น ส่วนการจัดหาโคเป็นเรื่องของเกษตรกรเอง

4.กรมปศุสัตว์ ย้ำว่า ไม่ได้ทำโครงการนี้เพียงหน่วยงานเดียว แต่ทำร่วมกับ ศอ.บต. และมหาดไทย

5.คำชี้แจงของกรมปศุสัตว์ สอดรับกับ ศอ.บต.ที่อ้างว่า โคผอม มาจากการเลี้ยงของเกษตรกร และความไม่พร้อมเรื่อง “แปลงหญ้า” ที่เป็นอาหารหลักของโค

แต่ ศอ.บต.ระบุว่า ปัญหามาจากคู่มือที่กระทรวงเกษตรฯทำ ไม่ตรงกับวิถีการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ชายแดนใต้

นัยของคำชี้แจงเหล่านี้ เพื่อกันตัวเองออกจากข้อกล่าวหาทุจริตหรือความไม่โปร่งใสที่เกษตรกรออกมาร้องเรียนหรือไม่?

@@ เกษตรกรสวน ศอ.บต.จัดให้ “เอกชนขายโค”

ประเด็นที่กรมปศุสัตว์ชี้แจงอ้างว่า การจัดหาผู้ประกอบการจำหน่ายโค และซื้อโคมาเลี้ยงในโครงการ เป็นการดำเนินการของกลุ่มเกษตรกรเอง ส่วนกรมปศุสัตว์มีหน้าที่แค่ “เขียนสเปค” นั้น

คำชี้แจงของกรมปศุสัตว์ เป็นเรื่อง “หลักการ” ของโครงการ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

ผู้เลี้ยงวัวในโครงการรายหนึ่ง เล่าว่า ผู้ประกอบการที่นำโคมาส่งให้ชาวบ้าน คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) วิชัย ฟาร์ม 2020 เกษตรกรไม่รู้จักผู้ประกอบการรายนี้ แต่ ศอ.บต.เป็นคนประสานงานและคุยรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงเลือกผู้ประกอบการที่จะมารับงาน

ผู้เลี้ยงวัวรายนี้ ยืนยันด้วยว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็น่าจะไม่ทราบเรื่อง ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงโคในโครงการไม่สามารถติดต่อกับตัวแทนผู้ประกอบการที่ขายโคได้โดยตรง ต้องคุยผ่านคนของ ศอ.บต. และน่าจะไม่มีสำนักงานในพื้นที่

@@ หจก.วิชัย ฟาร์มฯ สำนักงานอยู่นครสวรรค์

“ทีมข่าว” ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิชัย ฟาร์ม 2020 มีที่ตั้งอยู่ที่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท แจ้งประเภทธุรกิจ “ขายส่งสัตว์มีชีวิต”

@@ แฉ “คอกกลาง” 3.5 แสน ไม่ตรงปก โยกเยกใกล้พัง

ประเด็นที่น่าสนใจอีก 1 ประเด็น ก็คือ กิจกรรมในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ซึ่งไม่ได้มีแค่ “เลี้ยงโค” แต่ยังมีกิจกรรมสร้าง ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อ หรือ “คอกกลาง” ให้กับเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็น “วิสาหกิจชุมชน” โดยการสร้าง “คอกกลาง” 1 โรงเรือน ใช้เงิน 350,000 บาท

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ “คอกกลาง” ในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีข้อร้องเรียนเรื่อง “โคผอม – อมโรค” ปรากฏว่าพบปัญหาการก่อสร้าง “คอกกลาง” ไม่ได้มาตรฐานด้วย

นายสุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรจังหวัดปัตตานี ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” พาทีมข่าวไปดู “คอกกลาง” ราคา 350,000 บาท และเล่าข้อมูลให้ฟังว่า…

-บริษัทส่งคนงานมาทำคอก (แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นบริษัทเดียวกับที่จัดหาโคมาขายชาวบ้านหรือไม่)

-เหล็กที่นำมาใช้ บางมาก ไม่ได้มาตรฐาน

-ระหว่างก่อสร้าง ได้ทักทวงคนงานไป ย้ำว่าไม่ใช่มาตรฐานที่สร้างคอกกันตามปกติ แต่คนงานบอกว่าเป็นมาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด

-คอกสร้างเสร็จเร็วมาก แค่ 7 วันก็เสร็จหมดแล้ว ซึ่งคนงานยังมาคุยอวดว่าสร้างเสร็จก่อนเวลา ทั้งๆ ที่เกษตรกรมองว่าสร้างแบบง่ายๆ แทบไม่ได้ลงทุนลงแรงหรือใช้วัสดุอะไรมากมาย เกษตรกรเห็นแล้วตกใจ เพราะโรงเรือนขนาดเล็กกว่าคอกที่ชาวบ้านสร้างกันเองแบบง่ายๆ เสียอีก

-ตอนแรกเกษตรกรในโครงการไม่ยอมเซ็นรับ “คอกกลาง” แต่มีเจ้าหน้าที่มาขอร้องให้เซ็นรับไปก่อน จึงยอมเซ็น

-การเชื่อมเหล็กที่เป็นโครงสร้าง เชื่อมแค่ด้านบน ไม่ได้เชื่อมรอบๆ และด้านล่าง ทำให้คอกอยู่ในสภาพโยกเยก เสี่ยงล้ม ต้องใช้เชือกมัด ไม่อย่างนั้นคงหลุดเป็นชิ้นๆ ไปแล้ว ทั้งๆ ที่สร้างมาได้แค่เดือนเศษๆ

นายสุรเดช บอกว่า โรงเรือนนี้ราคา 350,000 บาท เฉพาะค่าแรง 50,000 บาท สร้างแค่ 7 วัน คนงานไม่กี่คน ไม่รวมค่าของ

สำหรับกระบวนการส่งคืนโค เพื่อเปลี่ยนโค ในส่วนของนายสุรเดชเอง ยังส่งคืนไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการยังไม่ว่างมารับ

นอกจากนี้ หลังจากที่เป็นข่าว ก็มีเกษตรกรพื้นที่อื่นๆ ติดต่อมาเป็นจำนวนมาก สอบถามเรื่องการเซ็นรับโค และเซ็นรับคอกกลางที่มีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น กลุ่มเกษตรกรที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และอีกหลายๆ พื้นที่ก็มีกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ที่มา: isranews.org