ข่าวต่างประเทศ

นักดาราศาสตร์พบดาวแคระ 2 หน้าแบ่งไฮโดรเจนและฮีเลียม

ดวงดาวและอวกาศก็มี “ทูเฟซ” เช่นกัน เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวแคระขาวที่มี 2 หน้าเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ดาวแคระขาวคือซากที่ลุกไหม้ของดาวฤกษ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ของเรา โดยดวงอาทิตย์จะพัฒนาเป็นดาวแคระขาวในอีกประมาณ 5,000 ล้านปีข้างหน้า เรียกง่ายๆ ว่าดาวแคระขาวคือแกนกลางของดาวฤกษ์ที่มอดไหม้แล้วนั่นเอง ทว่าดาวแคระขาว 2 หน้าที่ค้นพบใหม่นี้ ได้รับการอธิบายจากนักดาราศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียหรือแคลเทคว่าด้านหนึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจน ส่วนอีกด้านหนึ่งประกอบด้วยฮีเลียม นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อเล่นให้ดาวแคระขาวทูเฟซว่า เจนัส (Janus) ตามชื่อเทพปกรณัมของโรมันซึ่งเป็นเทพที่มี 2 ใบหน้า ดาวถูกค้นพบครั้งแรกโดยเครื่องมือ Zwicky Transient Facility (ZTF) ที่ใช้ตรวจดูท้องฟ้าทุกคืนจากหอดูดาวพาโลมาร์ (Palomar) ใกล้นครซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

นักดาราศาสตร์ระบุว่า ดาวแคระขาวเจนัส มีการหมุนรอบแกนของมันทุกๆ 15 นาที แม้จะไม่แน่ชัดว่าทำไมด้านหนึ่งถึงเป็นไฮโดรเจนอย่างเดียว แล้วอีกด้านเป็นฮีเลียมเท่านั้น นักดาราศาสตร์ก็ตั้งทฤษฎีหนึ่งว่าสนามแม่เหล็กอาจทำให้ความดันก๊าซในชั้นบรรยากาศลดลง สิ่งนี้อาจทำให้มหาสมุทรของไฮโดรเจนก่อตัวขึ้นในที่ที่มีสนามแม่เหล็กมากที่สุด.