ข่าวต่างประเทศ

อัฟกานิสถานกับตอลิบาน : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

สถานการณ์ของประเทศอัฟกานิสถาน และการเถลิงอำนาจครั้งใหม่ในรอบ 20 ปีของ “กลุ่มตอลิบาน” กลายเป็นประเด็นร้อน หรือ Hot Spot ที่ทั่วโลกจับตา 

แต่การจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ณ ปัจจุบัน ต้องเรียนรู้ที่มาที่ไปในอดีตเสียก่อน มิใช่รับข้อมูลข่าวสารเพียงตอนท้ายของเรื่อง แล้วด่วนตัดสินตามที่สื่อตะวันตกหรือชาติตะวันตกชี้นำ

เพราะยังมีข้อมูลข่าวสารในมุมอื่นๆ อีกที่ไม่ถูกพูดถึง

ดร.อณัส อมาตยกุล อาจารย์พิเศษด้านวิชาอิสลามและศาสนากับการเมืองโลก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ “โลกมุสลิม” บอกเล่าเรื่องราวของอัฟกานิสถาน ตั้งแต่อดีต เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคต โดยเป็นการให้สัมภาษณ์ในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นทีวี เมื่อวันพุธที่ 18 ส.ค.64

@@ บทบาทของอเมริกาต่ออัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถานมีประวัติศาสตร์ที่มีอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง นี่คือก่อนหน้านี้ แต่การมารุกรานหรือมาโจมตีก็ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 911 ซึ่งก็คือเหตุการณ์ใช้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์

มุมมองของคนที่ศึกษาการเมืองในประเทศมุสลิม ต้องเข้าใจดินแดนอัฟกานิสถานนิดหนึ่งว่า อเมริกาเข้ามารุกรานนี่ก็ 20 ปีแล้ว แต่ถ้าพูดถึงอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่ก็ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน ซึ่งช่วงนั้นสหภาพโซเวียตต้องการที่จะขยาย เพราะโซเวียตยึดได้หลายๆ ประเทศที่ลงท้ายด้วย “สถาน” ตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เช่น ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ซึ่งพระเจ้าซาร์ยึดมาตั้งแต่สมัยเป็นราชวงศ์

ทีนี้โซเวียตแม้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแล้ว ก็ยังเห็นว่ามิชชั่น (ภารกิจ) นี้ยังไม่จบ โซเวียตก็ยึดต่อ ตอนนั้นเป็นสงครามเย็น พอยึดต่อก็ส่งทหารเข้ามารุกรานอัฟกานิสถาน ชนเผ่าต่างๆ ตอนนั้นเยอะมาก แต่ชนเผ่าปาทานมีมากที่สุด และมีชนเผ่าทาจิก ชนเผ่าอุซเบก ที่เป็นอุซเบกิสถานปัจจุบัน

แสดงว่าอัฟกานิสสถานเป็นประเทศที่มีหลายๆ ชนเผ่า คล้ายๆ เมียนมาที่เราเข้าใจแต่ซับซ้อนกว่านั้นอีก

ที่นี้พอกองกำลังมูจาฮิดีนสู้กับโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ทศวรรษที่ 80 อเมริกาชอบ เพราะว่าอเมริกาทำสงครามเย็นกับโซเวียตอยู่แล้ว ก็เลยหนุน…หนุนฝ่ายต่อต้านรัสเซีย มีกลุ่มมูจาฮิดีนต่างๆ แล้วพออเมริกาไฟเขียว เด็กหนุ่มอาหรับซึ่งมาจากประเทศร่ำรวยในอ่าวเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นคูเวต การ์ตา บาห์เรน ยูเออี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อะไรพวกนี้ ก็ปรารถนาที่จะสู้กับคอมมิวนิสต์ ปรารถนาที่จะทำญิฮาด เพราะในประเทศตัวเองไม่มีเสรีภาพอะไร

“ญิฮาด” ก็คือการพลีทรัพย์และชีวิตเพื่อปกป้องธรรมะ และเขาก็มองโซเวียตว่าไม่มีธรรมะ ไม่มีศาสนา ก็เข้ามาช่วยกันสู้

ทีนี้อเมริกาก็ไฟเขียว เด็กหนุ่มๆ เหล่านี้ก็หลั่งไหลมายังอัฟกานิสถาน ฝั่งดินแดนมูจาฮีดีนที่เป็นเผ่าต่างๆ ในอัฟกานิสถานก็สู้กับโซเวียต แล้วอาหรับที่มา ก็ฟอร์มกำลังตัวเองเป็นที่มาของ “อัลกออิดะห์” ในอัฟกานิสถาน

taliban21082

พอสงครามจบพวกมูจาฮีดินต่างๆ ก็เข้าไปแบ่งเค้กที่คาบูล ก็คือเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ซึ่งโซเวียตไปแล้ว แบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีอะไรต่างๆ ก็ไม่ลงตัว ขณะที่เด็กหนุ่มอาหรับในอัลกออิดะห์ พอเสร็จภารกิจก็จะกลับประเทศตัวเอง กลุ่มแรกพอกลับไปถึงสนามบิน ซีไอเอและหน่วยความมั่นคงอเมริกาก็ส่งข่าวไปยังประเทศอาหรับเหล่านั้นให้จับให้หมด ปรากฎว่าพวกนี้ก็ส่งข่าวไปยังคนที่เหลือว่าอย่ากลับ ทำให้ชาวอาหรับที่เป็นอัลกออิดะห์ตกค้างอยู่ในอัฟกานิสถาน

อีกด้านหนึ่งพอพวกมูจาฮีดีนที่ได้อำนาจในคาบูลแบ่งเค้กไม่ลงตัว การดูแลบ้านเมืองก็ไม่มีเสถียรภาพ เพราะบ้านเมืองมีสงครามมานับเป็นสิบปี

“ตอลิบาน” ซึ่งเป็นลูกหลานของคนที่อพยพหนีสงครามมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยพรมแดนปากีสถาน อัฟกานิสถาน พอไปอยู่เป็นชุมชน เด็กๆ ก็ต้องเรียนศาสนา เรียนอะไรต่างๆ เด็กๆ เหล่านี้นี่แหละมีชื่อว่า ”ตอลิบาน” แปลว่า “นักเรียนศาสนา” พอเขาเห็นว่าพวกมูจาฮีดีนไม่สามารถสร้างเสถียรภาพได้ ก็เลยจับอาวุธไปขับไล่พวกมูจาฮีดีนเหล่านั้น และตอนนี้เองที่เป็นที่มาของรัฐบาลตอลิบาน

พอเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ อเมริกาก็โทษว่ารัฐบาลตอลิบานให้ที่พักพิงแก่ “บิน ลาเดน” และ “อัลกออิดะห์” ก็เลยมาทำสงคราม ประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ ก็เลยทำสงครามกับอัฟกานิสถาน อันนี้คือที่มาของเหตุการณ์

@@ ภาพคนจำนวนมากไปที่สนามบิน เพื่อหนีออกนอกประเทศ สะท้อนว่าคนอัฟกันไม่ต้องการตอลิบาน?

ผมก็รู้สึกหดหู่และขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต แต่ถ้าเรามองดูจากในคลิปที่เป็นไวรัลไปทั่วโลก ก็จะเห็นเกณฑ์เฉลี่ยของอายุคนเหล่านั้น ก็คือ 20-40 กว่าๆ คนส่วนใหญ่เหล่านี้ที่วิ่งอยู่นี่คือเวลาที่อเมริกาเข้ามาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต้องเข้าใจว่าอัฟกานิสถานมีสงครามมานานกว่า 40 ปี สงครามโซเวียตสี่สิบปี มาถึงทุกวันนี้ การศึกษาไม่มีทางมีเสถียรภาพ คนที่รู้หนังสือมีไม่มาก

ฉะนั้นเมื่อเวลาที่อเมริกาเข้ามา เขาเดินเคาะทุกบ้าน ตอลิบานอยู่ไหน เห็นหนีมาไหม ก็พูดไม่ได้ ก็ต้องหาล่าม หมายถึงชาวพื้นเมืองนี่แหละ ไปเป็นล่ามทำงานให้อเมริกัน คนเหล่านี้เลยมีความกลัวตายว่าตอลิบานจะมาล้างแค้นเมื่อเข้ามาปกครอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าภารกิจเขาทำอะไรไว้ เวลาอเมริกันสะพายปืนไปตามหมู่บ้านต่างๆ นี่ถีบประตูเข้าไป แล้วถ้าสงสัยว่าเป็นตอลิบาน เขาจะถามคนพวกนี้แล้วจะเค้น พวกตอลิบานก็จะจำว่าพวกนี้แหละที่นำความตายมายังหมู่บ้านต่างๆ ในอัฟกานิสถาน

จุดนี้เองจึงเกิดเป็นความกลัวว่าเมื่อตอลิบานเข้ามา จะสังหารคนที่เคยทำงานให้อเมริกา คือคนเหล่านี้มีอยู่ 2 หมื่นคน ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าสงครามนี่คนฆ่ากันไปหมด เขาก็กลัวว่าตัวเขาเองที่แปลภาษารับใช้ศัตรู จนอาจเป็นข้อความที่ทำให้ชาวบ้านอัฟกานิสถานตาย เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพวกตอลิบานกลับมานี่ เขาจะกลายเป็นอาชญากรหรือไม่

@@ มีภาพครูโบกมือลานักเรียนผู้หญิง เหมือนกับว่าจากนี้ไป นักเรียนหญิงจะไม่ได้เรียนหนังสืออีก เหมือนข่าวที่เราทราบมาก่อนว่า ตอลิบานไม่ให้สิทธิเสรีภาพผู้หญิง

ในเมืองไทยเรานี่ ก็จะพบมีคุณครูป้าบางคนที่อยากจะแสดงทักษะทางการเมืองเวลาเข้าชั้นเรียน กว่าจะเริ่มสอนอะไรก็จะพยายามวิจารณ์รัฐบาลให้นักเรียนฟัง แต่เด็กไปไกลแล้วไง เด็กๆ ก็จะจำว่าคุณครูคนนี้เคยวิจารณ์ตอลิบานมาก่อน เพราะว่าคุณครูเหล่านี้ทำงานในยุคอัฟกานิสถานอยู่ใต้อเมริกา เธอก็จะนึกถึงอนาคตที่สดใสที่จะให้มันเป็นเหมือนกับดีทรอยต์ หรือว่าชิคาโก แต่พอตอลิบานกำลังมา เธอก็ต้องโบกมือลา เพราะเธอได้วิจารณ์อะไรไว้มาก

ทีนี้ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับบางคนได้ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าเมื่อคืนก่อน ตอลิบานเพิ่งออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า ตอลิบานประกาศให้อโหสิกรรมกับทุกคน แม้กระทั่งคนที่ทำงานกับอเมริกา ก็น่าสงสารคนที่วิ่งหนีไปขึ้นเครื่องบิน ซึ่งต้องเข้าใจว่าตอลิบานมาอย่างรวดเร็ว คนเหล่านี้จึงขอวีซ่าไม่ทัน บางคนขอวีซ่ามาตั้งแต่ปี 2020 กระบวนการ process ก็ช้ามาก ก็เลยคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา และก็ทุกคนกลัวความตาย

taliban21081

@@ โฆษกของตอลิบาน เปิดแถลงข่าว และมีการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของสตรี โดยยืนยันว่าจะให้สิทธิ์กับผู้หญิงบนพื้นฐานของหลักการทางศาสนาอิสลาม ความหมายตรงนี้คืออะไร?

อย่างที่เห็นในภาพบางภาพที่เขาเอาสีขาวไปทาเพื่อลบภาพผู้หญิงที่ใส่เสื้อผ้าไม่มิดชิดไม่ว่าจะที่ร้านเสริมสวยหรือ ร้านเวดดิ้ง สตูดิโอ อะไรแบบนี้ เพราะถือว่าไม่อยู่ในกรอบของชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) เพราะว่าในกรอบของชะรีอะห์ สตรีต้องปกปิดร่างกายเห็นแต่ใบหน้าและฝ่ามือ

ทีนี้ร้านเหล่านี้ก็ยังนึกไม้ออกว่าตอลิบานจะมาแบบไหน เพราะนึกถึงแต่ตอลิบานสมัยเครื่องบินชนตึก ทุกอย่างมันดูโกลาหลและรุนแรงไปหมด เพราะฉะนั้นเมื่อตอลิบานรุกคืบเข้ามาใกล้กรุงคาบูล ก็เห็นว่าถ้ารถของกลุ่มตอลิบานวิ่งมา ก็อาจจะเห็นรูปร้านของเรา แบบนี้ก็อาจจะกราดยิงได้ อาจวางเพลิงได้ เมื่อการคาดการณ์ที่ยังไม่มีใครรู้นโยบายของตอลิบานจะเป็นอย่างไร แต่รู้อยู่แล้วว่าตอลิบานต้องใช้ชารีอะห์ในการปกครองประเทศ

@@ ภาพผู้หญิงอัฟกานิสถานเมื่อประมาณปี 1960-1970 ที่มาเปรียบเทียบกับทุกวันนี้ จากการที่ผู้หญิงสามารถแต่งตัวสวยงามได้ นุ่งกระโปรงสั้นได้ ทำไมตอนนี้ผู้หญิงแต่งตัวแบบนั้นไม่ได้แล้ว และมันไปเปลี่ยนตอนไหน?

ประเทศมุสลิมเกินครึ่งหรือเกือบทั้งหมดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง เมื่อเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง นี่ก็คือชนชั้นอีลิท (ชนชั้นสูง) ก็จะได้เรียนหนังสือ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีไอเดียของการใช้ชะรีอะห์ เพราะว่าฝรั่งปกครอง แต่ละคนจึงเริ่มด้วยเสื้อผ้าที่เป็นตะวันตก

แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าภาพที่เราเห็นทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นคนชั้นสูงหรือคนรวย หรือชนชั้นอีลิท ซึ่งอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ยากจน 98% ไม่ได้นุ่งแบบนี้หรอก นับตั้งแต่ร้อยปีแล้วที่ไม่ได้นุ่ง ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นของสังคม แต่สังคมส่วนใหญ่ก็เหมือนที่ตอลิบานให้ใช้เป็นกรอบในเวลานี้

@@ ทำไมตอลิบานไม่ให้สิทธิ์เสรีภาพกับผู้หญิง?

ในหลักการณ์อิสลาม เราสังเกตุกันไหมว่ามุสลิมในปากีสถานกับมุสลิมในอินโดนีเซียนี่จะมีวัฒนธรรมและบริบทที่ต่างกัน ทั้งที่คำสอนเดียวกัน

ความเคร่งครัดของมุสลิมในเกาะชวากับมุสลิมกรุงเทพฯ หรือมุสลิมที่ภาคใต้ของไทยที่ความเคร่งครัดของมุสลิมไทยมีมากกว่า ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ เพราะบริบททางสังคม จึงต้องเข้าใจก่อนว่าในประเทศอัฟกานิสถานนี่ทุกเผ่าที่รบกันมาจะ 50 ปีแล้ว ทีนี้เวลานักรบนั่งรถไปไหน นักรบนั่งไป 7 คน แต่มีปืนกลมา 11 กระบอก ยังไม่นับจรวดอาร์พีจีอีก 3-4 แท่ง ฉะนั้นฝ่ายศัตรูอีกเผ่าหนึ่งนี่ถ้าจะแก้แค้นหรือโจมตีคนเหล่านี้ เป็นเรื่องยาก แต่การไปดักจับลูกสาวหรือน้องสาวเขาที่เดินกลับมาจากโรงเรียนเพื่อล้างแค้น แบบนี้ง่ายกว่า ดังนั้นที่เขาจำกัดสิทธิ์ผู้หญิงนี่เพราะต้องการปกป้องผู้หญิง

@@ ตอลิบานยึดทำเนียบประธานาธิบดีได้แล้ว ทำไมแต่ละคนยังถือปืนยาวกันตลอดเวลา?

taliban21083

ต้องเข้าใจก่อนว่าเขายึดได้แล้วนี่ ก็เหมือนเเราดูหนังซอมบี้ที่เข้าไปในตึกร้าง พวกซอมบี้โผล่มาจากตรงโน้น ตรงนี้ไม่จบ เขาก็ไม่แน่ใจว่าบนหลังคา บนช่องลม หรือตรงไหนในทำเนียบประธานาธิบดีที่มีห้องเยอะแยะ อาจมีศัตรูซ่อนอยู่ มันเป็นภาพของสงคราม แม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้แล้วก็ตาม

อีกเรื่องที่มีการแชร์ในโซเซียลฯ กรณีถ้าตอลิบานเข้าปกครอง จะจับผู้หญิงไปข่มขืน เรื่องนี้ไม่จริง เพราะว่าตอลิบานบอกว่าเราจะปกครองในกรอบของชารีอะห์ ซึ่งในกรอบของชารีอะห์ข่มขืนไม่ได้ จีบเป็นแฟนยังไม่ได้เลย ต้องสู่ขอต้องโดยระบบเท่านั้น

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของตอลิบานก็ไปเยือนโรงพยาบาล และพบปะกับแพทย์ที่เป็นผู้หญิง เภสัชกรหญิง และบุคลากรทางการแพทย์ และได้ให้การยืนยันว่าทุกคนปฎิบัติหน้าที่ไปตามปกติ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเมื่อวานหรือวันนี้ ให้เดินหน้าทำงานเพื่อให้บริการทางสาธารณะสุขแก่สังคมอัฟกานิสถาน แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบของชารีอะห์

@@ บทบาทของตอลิบานที่เข้ามาปกครองรอบนี้ จะเปลี่ยนแปลงไป?

ต้องเข้าใจก่อนว่าตอนตอลิบานปกครองครั้งแรก (1996-2001) ในตอนนั้นตอลิบานห้ามแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต มือถือ ถ่ายรูป เพราะฉะนั้นตอลิบานในตอนโน้น ถ่ายรูป วีดีโอหรือเรื่องอินเทอร์เน็ตเขารับไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยเห็น

แต่ 20 ปีที่เขาถอยหนีอเมริกาไปซุ่มหรือไปรักษาตัวเอง หรือเตรียมพร้อมที่จะกลับมาอีกครั้ง เขาจึงมีความจำเป็นต้องใช้มือถือ ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เขาจึงเห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์และเริ่มเรียนรู้

ฉะนั้นในช่วงเวลานี้ ตอลิบานก็มองเห็นว่าความดีของเขาเนี่ย ที่ผ่านมาเขาไม่เคยทำการตลาดให้คนรู้จักความดีของเขา เพราะฉะนั้นเขาจึงเริ่มเดินไปหาจีน รัสเซีย แล้วก็แถลง

@@ แล้วที่บอกว่าจะเปลี่ยนแปลง จะไม่ปกครองเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

ในกฎชารีอะห์ของอิสลาม คนทั่วไปมักจะคิดว่าอิสลามมีกฎที่ตึง แต่กฎคำสอนของอิสลามเป็นกฎที่ให้ความยืดหยุ่นสูงสุด ศาสนาคงเดิม แต่ถ้าเรารู้จักยืดหยุ่น สามารถทำให้ชาวโลกเห็นตัวตนของเราและความดีของเราได้

@@ อนาคตของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตอลิบานจะเป็นอย่างไรต่อไป?

1.สำหรับตอลิบาน โจทย์การเข้ายึดคาบูลมันไม่สำคัญ แต่โจทย์ที่สำคัญคือการทำให้ประชาคมโลกยอมรับตัวตนของตอลิบาน นั่นก็คือสามารถเป็นประเทศอธิปไตยที่ครั้งแรกมีคนรับรองเพียงแค่ 3 ประเทศ (เมื่อครั้งที่ตอลิบานปกครองครั้งแรก) ฉะนั้นครั้งนี้แค่คนรับรองเกิน 15 ประเทศมันก็สำเร็จเยอะแล้ว เพราะสิบกว่าประเทศก็พอที่จะซื้อขายค้าขายด้วยกันได้

2.หากข้อแรกสำเร็จ และเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้ก็จะสมบูรณ์มากขึ้น และจะทำให้เอมิเรตส์อิสลามสามารถเป็นโมเดลต่ออีกหลายๆ ประเทศ

และสิ่งต่อไปที่ผมมองก็คือว่าการประยุกต์ใช้ชารีอะห์ในรูปแบบชารีอะห์ คือเลือกว่ากฎหมายอิสลามและอิสลามเป็นความเมตตาแก่นานาอารยะ ซึ่งไอซิส (ไอเอส) เลือกผิด ไอซิสไปเลือกที่ว่าต้องทำให้ศัตรูของธรรมะหวาดกลัว ไอซิสจึงไม่มีที่อยู่ และตอนนี้เรามองแล้วว่าอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตอลิบานนั้นน่าจะเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปในทางที่เข้ากับยุคสมัย เข้ากับโลกมากขึ้นด้วย และจะเป็นโมเดลให้อีกหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อัลกออิดะห์” และ “ไอซิส” ซึ่งยังไม่หายไปไหน ยังซ่อนตัวอยู่

ฉะนั้นแนวทางคืออาจจะย้อนกลับมาปัดฝุ่นตัวเอง เดินตามแนวกรุณาธิคุณ อโหสิกรรมตามแบบตอลิบานก็ได้

@@ UNHCR ขอทุกประเทศไม่ผลักดันชาวอัฟกันกลับอัฟกาฯ

taliban21085

อีกด้านหนึ่ง ชาเบีย มานตู โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประขาชาติ หรือ UNHCR แถลงต่อสื่อที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จากสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านความมั่นคงและด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอัฟกานิสถาน อีกทั้งสภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมที่ปรากฎขึ้นชัดเจน UNHCR เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ หยุดการผลักดันประชาชนชาวอัฟกันที่เคยได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศกลับสู่ประเทศของพวกเขาในช่วงวิกฤตินี้

UNHCR ยังคงมีความกังวลต่อความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ถูกเข้าใจว่าเคยหรือยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอัฟกัน องค์กรระหว่างประเทศ หรือกองกำลังทหารระหว่างประเทศ

ตั้งแต่ช่วงต้นปี ชาวอัฟกันมากกว่า 550,000 คนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ เนื่องจากความขัดแย้งและความไม่มั่นคง ถึงแม้ว่าพลเมืองจำนวนไม่มากนักได้ทยอยหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน แต่สถานการณ์ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่สถานการณ์ยังครุกรุ่นและไม่มีความแน่นอน UNHCR ยังคงเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้พลเมืองชาวอัฟกันที่เดินทางหนีออกจากประเทศสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ รวมไปถึงการเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับประเทศตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงการห้ามส่งผู้คนกลับไปสู่สถานการณ์อันตราย

รัฐบาลต่างๆ มีความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและทางศีลธรรมในการอนุญาตให้ผู้คนที่หนีออกจากประเทศอัฟกานิสถานแสวงหาความปลอดภัย รวมถึงไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

————————————

หมายเหตุ : ทีมข่าวอิศราสรุปคำถามและขมวดประเด็นสัมภาษณ์ใหม่

ขอบคุณ : รายการคมชัดลึก ทางเนชั่นทีวี 22